NATO แต่งตั้งมาร์ก รุตต์ เป็นนายใหญ่คนใหม่

มาร์ก รุตต์ นายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ได้รับเลือกให้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) คนใหม่

มาร์ก รุตต์ เลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) คนใหม่ (Photo by Simon Wohlfahrt / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 26 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า สมาชิก 32 ประเทศขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือนาโต (NATO) ได้แต่งตั้งมาร์ก รุตต์ ที่กำลังจะพ้นวาระนายกรัฐมนตรีเนเธอร์แลนด์ ให้เป็นหัวเรือใหญ่คนใหม่ต่อจากเยนส์ สโตลเทนเบิร์ก เลขาธิการนาโตคนปัจจุบันที่จะวางมือในเดือนตุลาคมปีนี้

รุตต์วัย 57 ปี จะเข้ามาสานต่องานสำคัญที่รออยู่ข้างหน้า ทั้งสงครามที่ยืดเยื้อในยูเครน และการเลือกตั้งของสหรัฐฯ ช่วงปลายปี

สโตลเทนเบิร์กแสดงความเห็นผ่านโซเชียลมีเดียหลังการประกาศของนาโต โดยกล่าวว่า "ผมยินดีอย่างยิ่งที่พันธมิตรนาโตเลือกมาร์ก รุตต์ ให้เป็นผู้สืบทอดตำแหน่งอันทรงเกียรตินี้ มาร์กจะเป็นผู้นำที่แข็งแกร่งและผู้สร้างฉันทามติข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกอย่างแท้จริง นั่นทำให้ผมรู้สึกเชื่อมั่นหลังการวางมือ"

ทั้งนี้ มาร์ก รุตต์ซึ่งดำรงตำแหน่ง 14 ปีในการดูแลเนเธอร์แลนด์ จะสิ้นสุดหน้าที่ผู้นำประเทศภายในไม่กี่สัปดาห์ โดยเขาได้รับความเชื่อมั่นว่าจะนำองค์กรอายุ 75 ปีแห่งนี้ผ่านช่วงเวลาที่เต็มไปด้วยอันตรายไปได้

อุปสรรคแรกที่ต้องเผชิญคือการที่นาโตอาจต้องรับมือกับโดนัลด์ ทรัมป์ หากเขาชนะการเลือกตั้งเหนือโจ ไบเดนปลายปีนี้ รวมทั้งภัยคุกคามจากประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย

แม้สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ และเยอรมนี แสดงการสนับสนุนให้มาร์ก รุตต์ ขึ้นเป็นหัวเรือใหญ่มาตลอด แต่เขาก็ต้องใช้ความพยายามอย่างมากในการโน้มน้าวชาติพันธมิตรที่ไม่เต็มใจอย่างตุรเคียและฮังการี ให้โอนอ่อนผ่อนตาม ก่อนท้ายที่สุด เขากลายเป็นม้าตัวเดียวและคว้าตำแหน่งสูงสุดไปได้ เพราะประธานาธิบดีเคลาส์ อิโอฮานิส ผู้ท้าชิงเพียงคนเดียวจากโรมาเนียถอนตัวออกไปจากการแข่งขันเมื่อสัปดาห์ก่อน

ในฐานะหัวหน้านาโต รุตต์จะมีบทบาทสำคัญในการจัดทัพพันธมิตรที่เหนื่อยล้า เพื่อสนับสนุนยูเครนที่เสียหายจากสงคราม ขณะเดียวกันก็ต้องพยายามผลักดันยูเครนให้ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก

เขาเป็นผู้สนับสนุนยูเครนอย่างจริงจัง และเป็นหัวหอกในการผลักดันที่จะมอบเครื่องบินขับไล่ F-16 ให้แก่รัฐบาลเคียฟ เพื่อช่วยต่อสู้กับการรุกรานของรัสเซีย

การโจมตียูเครนโดยรัสเซียในปี 2565 ได้ปลุกพลังพันธมิตรที่ต่างคนต่างอยู่หลังสิ้นสุดสงครามเย็น ให้รวมตัวกันเพื่อผลักดันการใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้น

ตอนนี้รุตต์จะต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่านาโตกำลังต่อสู้อย่างเหมาะสมเพื่อรับมือกับภัยคุกคามของรัสเซียที่อาจลากยาวไปอีกหลายปี และจับตาดูอำนาจที่เพิ่มขึ้นของจีนด้วย

อย่างไรก็ตาม งานหนักที่สุดอาจเป็นปัญหาภายในองค์กรและความท้าทายในการรักษาพันธมิตรไว้ด้วยกัน หากทรัมป์ยึดตำแหน่งประธานาธิบดีคืนจากโจ ไบเดนได้ โดยทรัมป์เคยมีแนวคิดที่จะนำสหรัฐอเมริกาถอนตัวออกจากนาโตในช่วงดำรงตำแหน่งผู้นำสมัยแรก

ในเส้นทางการหาเสียงครั้งล่าสุดนี้ อดีตประธานาบดีทรัมป์ได้ปลุกปั่นพันธมิตรด้วยแนวคิดสนับสนุนรัสเซียให้โจมตีประเทศสมาชิกที่ไม่ยอมทุ่มงบด้านกลาโหมของตัวเองและจ้องแต่จะพึ่งพานาโต

ไม่ใช่แค่สหรัฐฯ เท่านั้นที่กำลังเผชิญกับความไม่แน่นอนทางการเมือง แต่ผู้นำคนปัจจุบันทั้งในฝรั่งเศส (เอมมานูเอล มาครง) และอังกฤษ (ริชี ซูนัค) ต่างก็สั่นคลอนเช่นกัน

จากนี้ มาร์ก รุตต์จะต้องเรียนรู้จากสโตลเทนเบิร์กซึ่งเป็นผู้นำนาโตมาตลอดทศวรรษและได้รับเสียงชื่นชมจากการรักษาความสามัคคีและเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับองค์กรผ่านช่วงเวลาที่สับสนวุ่นวาย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง