จูเลียน อัสซานจ์ได้รับการปล่อยตัวแล้ว หลังยอมสารภาพผิดแลกอิสรภาพ

จูเลียน อัสซานจ์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำและออกจากอังกฤษแล้ว หลังบรรลุข้อตกลงสำคัญกับทางการสหรัฐฯ ที่ทำให้คดีทางกฎหมายที่ยืดเยื้อมานานหลายปีของเขายุติลง

ภาพของจูเลียน อัสซานจ์ (ซ้าย) ที่เผยแพร่โดย Wikileaks ขณะที่เขาเตรียมขึ้นเครื่องบินเดินทางออกจากอังกฤษ หลังได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำเบลมาร์ช เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน (Photo by WikiLeaks / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 25 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้ง Wikileaks (วิกิลีกส์) ที่ถูกคุมขังในเรือนจำอังกฤษ ได้รับการปล่อยตัวแล้วและขึ้นเครื่องบินไปยังเกาะไซปันซึ่งเป็นดินแดนของสหรัฐอเมริกาในมหาสมุทรแปซิฟิก

อัสซานจ์วัย 52 ปี ถูกควบคุมตัวในอังกฤษเป็นเวลา 5 ปี และพยายามต่อสู้ทางกฏหมายเพื่อไม่ให้ถูกส่งตัวในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกาซึ่งพยายามดำเนินคดีกับเขาข้อหาเปิดเผยความลับทางการทหาร

ท้ายที่สุด เขายอมตกลงรับสารภาพในข้อหาสมคบคิดเพื่อให้ได้มาและเผยแพร่ข้อมูลการป้องกันประเทศ ตามเอกสารที่ยื่นต่อศาลในไซปัน ซึ่งอัสซานจ์จะปรากฏตัวในศาลช่วงเช้าวันพุธ

คาดว่า อัสซานจ์จะถูกตัดสินจำคุก 5 ปี 2 เดือน โดยให้นับรวมระยะเวลาที่ถูกคุมขังในอังกฤษมาแล้ว ซึ่งหมายความว่าการยอมสารภาพแลกอิสรภาพทำให้เขาสามารถเดินทางกลับไปยังประเทศออสเตรเลียซึ่งเป็นบ้านเกิดของเขาได้ทันที ซึ่งรัฐบาลแคนเบอร์ราพยายามเรียกร้องให้สหรัฐอเมริกาและอังกฤษยุติการดำเนินคดีกับเขามาตลอด โดยนายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลียเคยกล่าวไว้ว่า คดีนี้ยืดเยื้อมานานเกินไปแล้ว และไม่มีใครได้อะไรจากการคุมขังอัสซานจ์

ผู้ก่อตั้ง Wikileaks รายนี้ถูกต้องการตัวโดยรัฐบาลวอชิงตันในฐานะผู้กระทำการเผยแพร่เอกสารลับของสหรัฐฯ หลายแสนฉบับตั้งแต่ปี 2553

ตั้งแต่นั้นมา อัสซานจ์ก็กลายเป็นฮีโร่ของนักรณรงค์เสรีภาพในการพูด และเป็นตัวร้ายของผู้ที่คิดว่าเขาเป็นอันตรายต่อความมั่นคงและแหล่งข่าวกรองของสหรัฐฯ

ก่อนหน้านี้ ทางการสหรัฐฯ ต้องการนำตัวอัสซานจ์มาขึ้นศาลฐานเปิดเผยความลับทางการทหารเกี่ยวกับสงครามในอิรักและอัฟกานิสถาน

อัสซานจ์ถูกคณะลูกขุนใหญ่ของรัฐบาลกลางสหรัฐฟ้องในปี 2562 จำนวน 18 กระทง จากการที่วิกิลีกส์เผยแพร่เอกสารความมั่นคงของชาติ

อดีตรองประธานาธิบดี ไมค์ เพนซ์ ของสหรัฐประณามข้อตกลงรับสารภาพแลกอิสรภาพในครั้งนี้ว่าเป็น "กระบวนการยุติธรรมที่ผิดพลาดซึ่งทำให้การรับใช้และการเสียสละของทหารในกองทัพของเราเสื่อมเสีย"

อย่างไรก็ตาม ครอบครัวของอัสซานจ์แสดงความขอบคุณอย่างสุดซึ้งต่ออิสรภาพของเขา โดยแม่ของอัสซานจ์กล่าวในแถลงการณ์ที่สื่อออสเตรเลียเผยแพร่ว่า เธอรู้สึกขอบคุณที่ความเจ็บปวดของลูกชายสิ้นสุดลงเสียที เช่นเดียวกับภรรยาของอัสซานจ์ที่กล่าวว่า ไม่รู้จะใช้คำพูดใดในการแสดงออกถึงความรู้สึกขอบคุณอันยิ่งใหญ่ครั้งนี้ได้

ทั้งนี้ อัสซานจ์ถูกควบคุมตัวในเรือนจำเบลมาร์ชที่มีความปลอดภัยสูงในลอนดอนตั้งแต่เดือนเมษายน 2562

เขาถูกจับกุมหลังหลบซ่อนตัวในสถานทูตเอกวาดอร์ในลอนดอนเป็นเวลา 7 ปี เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสวีเดน ที่ซึ่งเขาเผชิญกับข้อกล่าวหาเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศระหว่างพำนักอยู่ที่นั่น แต่ข้อกล่าวหาก็ถูกยกเลิกไปในภายหลัง

สำหรับเนื้อหาและวีดีโอที่เขาเผยแพร่นั้นมีทั้งที่เกี่ยวกับกรณีพลเรือนถูกสังหารด้วยการยิงจากเฮลิคอปเตอร์ติดอาวุธของสหรัฐฯ ในอิรักเมื่อปี 2550 โดยบรรดาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อมีนักข่าวรอยเตอร์ 2 รายรวมอยู่ด้วย

สหรัฐฯ ดำเนินคดีอัสซานจ์ภายใต้กฎหมายจารกรรมซึ่งบัญญัติในปี ค.ศ. 1917 และอาจถูกตัดสินจำคุกถึง 175 ปี

ขณะที่รัฐบาลอังกฤษอนุมัติการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนในเดือนมิถุนายน 2565 แต่ทนายของอัสซานจ์ยื่นอุทธรณ์คัดค้านการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐอเมริกา ด้วยการขอให้ศาลสูงลอนดอนพิจารณาว่าอัสซานจ์ในฐานะพลเมืองต่างชาติที่ถูกดำเนินคดีในสหรัฐอเมริกา สามารถเรียกร้องสิทธิที่จะมีเสรีภาพทางการพูดตามที่ระบุไว้ในการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญสหรัฐครั้งที่ 1 ได้หรือไม่

ข้ออ้างดังกล่าวทำให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดนตกอยู่ภายใต้แรงกดดันที่เพิ่มขึ้นให้ยุติคดีที่ยืดเยื้อต่ออัสซานจ์

ในเดือนกุมภาพันธ์ รัฐบาลออสเตรเลียได้ยื่นคำขออย่างเป็นทางการให้ยุติการดำเนินคดีกับอัสซานจ์ และไบเดนกล่าวว่าเขาจะพิจารณาเรื่องนี้ ทำให้เกิดความหวังในหมู่ผู้สนับสนุนอัสซานจ์ว่าคดีของเขาอาจสิ้นสุดลงในอีกไม่นาน จนเป็นที่มาของการต่อรองล่าสุดระหว่างคู่ขัดแย้ง และกลายเป็นอิสรภาพของอัสซานจ์ในท้ายที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง