นเรนทรา โมดี นายกรัฐมนตรีชาตินิยมฮินดูของอินเดีย เป็นประธานในการนำผู้คนหลายร้อยคนร่วมเล่นโยคะในภูมิภาคแคชเมียร์ซึ่งประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย ทำท่าอาสนะ (นั่งสมาธิ) เนื่องในวันโยคะสากล ที่เมืองศรีนาการ์ของดินแดนแคชเมียร์ เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน (Photo by PIB / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 21 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดีย เป็นประธานพิธีเฉลิมฉลองเนื่องในวันโยคะสากล พร้อมนำผู้มาร่วมงานยืดตัว ดัดตัว โก่งหลัง และคุกเข่าบนเสื่อไปด้วยกัน
การเล่นโยคะหมู่จัดขึ้นในศรีนาการ์ เมืองหลวงของดินแดนแคชเมียร์ซึ่งเป็นพื้นที่พิพาทภายใต้การปกครองของอินเดีย โดยปีนี้ถือเป็นวันโยคะสากลครั้งที่ 10 ภายใต้การผลักดันของโมดีเอง
แม้ว่าโยคะจะไม่ใช่การปฏิบัติทางศาสนา แต่ก็มีต้นกำเนิดมาจากปรัชญาฮินดู ซึ่งกล่าวกันว่าพระศิวะเป็นโยคีองค์แรก ขณะที่ชาวแคชเมียร์จำนวนมากซึ่งส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามต่างก็ไม่สนใจกับวิถีปฏิบัตินี้
พนักงานของรัฐ, ครูในโรงเรียน และนักเรียนหลายพันคนจากทั่วแคชเมียร์ถูกนำตัวเข้าร่วมงานนี้ ท่ามกลางฝนโปรยปราย
โมดีได้กระตุ้นให้ผู้คนหลายร้อยคน รวมทั้งตำรวจและเจ้าหน้าที่กองทัพจำนวนมากบนชายฝั่งทะเลสาบดาล ให้ปฏิบัติโยคะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน
"โยคะส่งเสริมความแข็งแกร่ง และช่วยให้มีสุขภาพกายใจที่ดี" ผู้นำอินเดียกล่าว
แต่ชาวศรีนาการ์คนหนึ่งมองว่าการบังคับปฏิบัตินี้เป็นการละเมิดวัฒนธรรมท้องถิ่น
"โยคะบังคับให้ลูกหลานเราเปลี่ยนวัฒนธรรมของคนรุ่นต่อไปและควบคุมจิตใจของพวกเขา ซึ่งเป็นภาระต่อเรา" ชาวศรีนาการ์กล่าว
กลุ่มกบฏในแคชเมียร์ก่อความไม่สงบมาตั้งแต่ปี 2532 โดยเรียกร้องการเป็นเอกราชหรือไปผนวกดินแดนกับปากีสถาน
มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นคนในความขัดแย้งนี้ และความรุนแรงก็เริ่มเบาบางลงไปมากนับตั้งแต่โมดีถอนอำนาจปกครองตนเองอันจำกัดของภูมิภาคในปี 2562 และบังคับใช้การปราบปรามด้านความมั่นคง
การมาเยือนล่าสุดของผู้นำอินเดียเกิดขึ้นภายหลังการโจมตีหลายครั้งโดยผู้ต้องสงสัยซึ่งต่อต้านการปกครองของอินเดีย ซึ่งรวมถึงการโจมตีที่ทำให้ผู้แสวงบุญชาวฮินดูเสียชีวิต 10 ราย
ปัจจุบันปากีสถานควบคุมส่วนหนึ่งของดินแดนที่ถูกแบ่งแยก ขณะที่อินเดียอ้างสิทธิ์ในดินแดนแคชเมียร์ทั้งหมด
วันที่ 21 มิถุนายนของทุกปีเป็นวันโยคะสากลตั้งแต่สิบปีก่อน และโมดีได้เป็นผู้นำในการเผยแพร่กิจกรรมต่างๆ ในสถานที่อันเป็นสัญลักษณ์ทั่วอินเดีย รวมทั้งเมื่อปีที่แล้วที่สำนักงานใหญ่ของสหประชาชาติในนครนิวยอร์ก.