ศาลศรีลังกาขัดขวางร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศ

ศาลสูงสุดของศรีลังกาล้มร่างกฎหมายของรัฐบาลที่มุ่งแสวงหาความเท่าเทียมทางเพศ โดยโต้แย้งว่ากฎหมายดังกล่าวอาจเป็นแบบอย่างทางกฎหมายในการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการรักร่วมเพศและการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

ศาลสูงสุดของศรีลังกาในกรุงโคลัมโบ (Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 18 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ศาลสูงสุดของศรีลังกาคัดค้านและล้มร่างกฎหมายความเท่าเทียมทางเพศของรัฐบาล โดยชี้ว่าเป็นการขัดต่อวัฒนธรรมและศีลธรรมของประเทศ

ผู้พิพากษา 3 คนของศาลสูงสุดตัดสินให้ร่างกฎหมายดังกล่าวเป็นโมฆะ โดยให้ความเห็นแย้งว่ากฎหมายดังกล่าวอาจเป็นแบบอย่างทางกฎหมายในการลดทอนความเป็นอาชญากรรมของการรักร่วมเพศและการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน

"เห็นได้ชัดว่าหากร่างกฎหมายฉบับนี้กลายเป็นกฎหมาย ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียก็สามารถอ้างสถานะทางกฎหมายสำหรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันได้" ป. ปัดมาน สุรเสนา ผู้พิพากษาประธานกล่าวแถลงโดยได้รับการอนุมัติจากผู้พิพากษาอีก 2 คน

"นี่คือสิ่งที่ทั้งรัฐธรรมนูญและวัฒนธรรมของเราไม่ได้จินตนาการถึง ขณะที่การลดความผิดทางอาญาของการรักร่วมเพศและการยอมรับการแต่งงานของคนเพศเดียวกันจะส่งผลอย่างมีนัยสำคัญต่อวัฒนธรรมและศีลธรรมของศรีลังกา" ผู้พิพากษากล่าว และเสริมว่า การยอมรับบุคคลที่มีอัตลักษณ์ทางเพศต่างออกไปจะเป็นการละเมิดรัฐธรรมนูญอีกด้วย

รัฐบาลชุดปัจจุบันของศรีลังกามุ่งแสวงหาความเท่าเทียมทางเพศและพยายามจัดการกับการกีดกันทางเพศอันเป็นเหตุแห่งการใช้ความรุนแรงต่อบุคคลผู้มีความหลากหลายซึ่งถูกมองว่าเป็นบ่อนทำลายค่านิยมอนุรักษนิยมของประเทศที่คนส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ

ความเคลื่อนไหวของศาลฯ ทำให้ประธานาธิบดีรานิล วิกรมสิงเห ของศรีลังกาเรียกร้องให้ฝ่ายนิติบัญญัติแต่งตั้งคณะทำงานพิเศษเพื่อล้มล้างการขัดขวางของฝ่ายตุลาการ

วิกรมสิงเหกล่าวว่า ร่างกฎหมายความเสมอภาคทางเพศของรัฐบาลมุ่งหมายในการมอบโอกาสที่เท่าเทียมกันสำหรับทุกคน โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศ

"เรากำลังถูกขอให้ยอมรับ (คำตัดสิน) ทั้งๆที่สภาแห่งนี้มีจุดยืนในทางตรงข้าม" วิกรมสิงเหกล่าวต่อสมาชิกรัฐสภา

เขายังกล่าวว่า มีตัวอย่างคำพิพากษาของศาลที่เคยอนุญาตให้รัฐสภายกเลิกกฎหมายที่เป็นการเลือกปฏิบัติได้

วิกรมสิงเหชี้ว่า คำตัดสินของศาลเป็นการบ่อนทำลายกระบวนการก้าวหน้าทางสังคมที่ดำเนินไปแล้ว และเรียกวิธีการพิจารณาของผู้พิพากษาว่าเป็น "การทำลายความเป็นมนุษย์ผ่านกระบวนการศาล"

ทั้งนี้ การมีเพศสัมพันธ์แบบรักร่วมเพศถือเป็นการกระทำผิดกฎหมายในศรีลังกา ภายใต้ประมวลกฎหมายอาญาที่บัญญัติตั้งแต่ยุคสมัยการปกครองอาณานิคมของอังกฤษ

แม้ว่าการดำเนินคดีอาญากับการรักร่วมเพศจะเกิดขึ้นไม่บ่อยนัก แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนระบุว่ากฎหมายต่อต้านการรักร่วมเพศมักถูกใช้โดยตำรวจเพื่อเลือกปฏิบัติต่อชุมชน LGBTQ อย่างไม่เป็นธรรม.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

นายกฯ เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชศรีลังกา ครั้งที่ 76 ในฐานะแขกเกียรติยศ

นายกฯ เข้าร่วมพิธีเฉลิมฉลองวันประกาศเอกราชสาธารณรัฐสังคมนิยมประชาธิปไตยศรีลังกา ครั้งที่ 76 ในฐานะแขกเกียรติยศ