สงครามในยูเครนสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศโลกแค่ไหน?

AFP

ความขัดแย้งทางทหารและกองกำลังติดอาวุธเป็นหนึ่งในปัญหาสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศที่ใหญ่ที่สุด กลุ่ม Scientists for Global Responsibility เคยคำนวณเมื่อหลายปีก่อนว่า กองทัพทั้งหมด รวมถึงอุตสาหกรรมการป้องกันประเทศ ก่อให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ มีความเป็นไปได้ที่สัดส่วนจะเพิ่มขึ้นอีกในช่วงสงครามยูเครนและฉนวนกาซา หากภาคการทหารเป็นประเทศ ก็จะอยู่ในอันดับสี่ของการจัดอันดับประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด รองจากจีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย

แต่กระนั้นก็เป็นการยากที่จะระบุอย่างชัดเจนว่าความขัดแย้งทางทหารสร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศโลกมากน้อยเพียงใด ตามพิธีสารเกียวโต ระบุว่าประเทศต่างๆ ไม่จำเป็นต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับการใช้น้ำมันและก๊าซของรถถัง เครื่องบินรบ และอื่นๆ ในหมวดเดียวกัน ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย ส่วนใหญ่ละเลยสิ่งนี้เพื่อไม่ให้ฝ่ายตรงข้ามได้เปรียบทางการทหาร ขณะนี้ยูเครนเป็นประเทศแรกที่พยายามประเมินความเสียหายของสภาพอากาศ

ตามรายงานของโครงการริเริ่ม GHG Accounting of War ซึ่งตีพิมพ์ได้ทันเวลาสำหรับการประชุมการฟื้นฟูในกรุงเบอร์ลินและมีการนำเสนอที่นั่น ระบุว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของยูเครนเพิ่มขึ้น 175 ล้านตันคาร์บอนฯ ในช่วงสองปีที่ผ่านมา ซึ่งเทียบเท่ากับการปล่อยก๊าซของรถยนต์ 90 ล้านคัน หรือการปล่อยก๊าซทั้งหมดของเนเธอร์แลนด์ต่อปี การปล่อยมลพิษส่วนใหญ่เกิดจากการทำลายโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนและการสู้รบ

จากการคำนวณ 32 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่สร้างความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศอันเนื่องมาจากสงครามนั้นมีสาเหตุมาจากการฟื้นฟูประเทศ ทางการยูเครนได้บันทึกความเสียหายครั้งใหญ่ที่สุดในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น อาคารที่พักอาศัย สถานที่ทางวัฒนธรรม สถาบันการแพทย์ สังคม และการศึกษา ตามมาด้วยความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานและอุตสาหกรรม วัสดุอย่างคอนกรีต และเหล็กมีความจำเป็นหลักในการซ่อมแซมอาคารที่ถูกทำลาย เส้นทางการคมนาคม และสิ่งอำนวยความสะดวกทางอุตสาหกรรม วัสดุทั้งสองถือเป็นวัสดุที่ใช้พลังงานสูงและเป็นอันตรายต่อสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้กระทรวงสิ่งแวดล้อมของยูเครนยังนำยานพาหนะและเครื่องจักรที่ถูกทำลายมาพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตามการปล่อยก๊าซเรือนกระจกส่วนใหญ่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคตเมื่อสงครามสิ้นสุดลง และการบูรณะซ่อมแซมจะเริ่มได้โดยไม่ถูกรบกวน

ตัวปล่อยคาร์บอนฯ ที่ใหญ่เป็นอันดับสองจริงๆ แล้วคือ การทำสงคราม 29 เปอร์เซ็นต์ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเกิดจากการสู้รบในแนวหน้า ตามการคำนวณ ก๊าซคาร์บอนฯ 44.5 ล้านตันถูกปล่อยจากการใช้เชื้อเพลิงของรถถัง เครื่องบิน เฮลิคอปเตอร์ และรถบรรทุก ซึ่งส่วนใหญ่แล้วมาจากฝั่งรัสเซีย (คาร์บอนฯ 32.5 ล้านตัน) ส่วนที่เหลือถูกปล่อยโดยกองทัพยูเครน (คาร์บอนฯ 9.4 ล้านตัน) การปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยรวมจากสงครามน่าจะอยู่ที่เกือบ 52 ล้านตันคาร์บอนฯ

ตามรายงานของกระทรวงสิ่งแวดล้อมยูเครนได้จัดให้การบินพลเรือนอยู่ในอันดับที่สาม สงครามและการคว่ำบาตรทำให้มีปิดน่านฟ้าเหนือยูเครน เบลารุส และรัสเซีย เป็นเหตุให้เครื่องบินพาณิชย์ส่วนใหญ่ต้องบินอ้อม จากการประมาณการ มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ เพิ่มขึ้นกว่าเดิม 24 ล้านตัน

นอกจากนี้การหลั่งไหลของผู้ลี้ภัย เพลิงไหม้จากการสู้รบ และการทำลายโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ยังถูกระบุว่าเป็นสาเหตุของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอีกด้วย

ที่ผ่านมายังไม่เคยมีประเทศไหนพยายามวัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนฯ ท่ามกลางสงคราม นับตั้งแต่เริ่มสงคราม โครงการริเริ่ม GHG Accounting of War ได้เผยแพร่รายงานหลายฉบับในนามของกระทรวงสิ่งแวดล้อมยูเครน เพื่อทำแผนที่ความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศ รายงานฉบับที่ 4 ล่าสุดเป็นการอัปเดตการคำนวณก่อนหน้านี้ โครงการริเริ่มนี้ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลเยอรมันและสวีเดน รวมถึงสถาบันปกป้องสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศหลายแห่ง

อย่างไรก็ตาม รายงานดังกล่าวอาจถือเป็นแนวทางใหม่ในการสร้างสมดุลของความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากความขัดแย้งทางการทหาร สมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติและโครงการริเริ่มต่างๆ ของยุโรปได้ตัดสินใจแล้วว่า ควรรวบรวมความเสียหายต่อสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากสงครามรุกรานของรัสเซียไว้ในค่าใช้จ่ายด้านสงครามด้วย

ในการศึกษา กลุ่มวิจัยของสหรัฐอเมริกาประเมินต้นทุนทางสังคมจากการทำลายสภาพภูมิอากาศอยู่ที่ 185 ดอลลาร์ต่อตันคาร์บอนฯ ตามรายงานของยูเครน รัสเซียจะต้องจ่ายเงินชดเชยเพิ่มเติมจำนวน 32,000 ล้านดอลลาร์เฉพาะจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพียงอย่างเดียว.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'เซเลนสกี' ชี้หนังสารคดีรางวัลออสการ์แสดงให้เห็นถึงการก่อการร้ายของรัสเซีย

โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประธานาธิบดีของยูเครน แสดงความยินดีกับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ’20 Days in Mariupol’ ที่ได้รับรางวัลออสการ์

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบนเอกชนไทย หลังสื่อนอกรายงานทำธุรกิจกับรัสเซีย

'ปานปรีย์' ปัดข่าว EU แบน เอกชนไทยหลังสื่อต่างประเทศรายงานอ้างทำธุรกิจกับรัสเซีย ชี้ เป็นเรื่องระหว่างเอกชนไม่เกี่ยวรัฐบาล

เหตุผลของ 'เซเลนสกี' ที่ไม่อยากให้มีการเลือกตั้งประธานาธิบดีต้นปีหน้า

เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว โวโลดิมีร์ เซเลนสกี ประมุขของยูเครน กล่าวผ่านวิดีโออย่างชัดเจนว่าต่อต้านความคิดริเริ่มจัดการเลือกตั้ง

ยูเครนป่วนสหภาพยุโรป ด้วยการแฉรายชื่อผู้สนับสนุนสงครามฝ่ายรัสเซีย

การเปิดเผยรายชื่อผู้ต้องสงสัยว่า “ให้การสนับสนุน” สงครามการรุกรานของรัสเซียล่าสุด ทำให้เกิดความปั่นป่วนในยุโรป หนึ่งในนั้นมีบริษัทใหญ่ของเยอรมนีอยู่ในลิสต์ด้วย