กฎใหม่ของจีนอนุญาตให้กักตัวชาวต่างชาติในทะเลจีนใต้ได้

กฎใหม่ของหน่วยยามฝั่งจีนมีผลบังคับใช้เมื่อวันเสาร์ โดยสามารถกักตัวชาวต่างชาติได้ฐานบุกรุกทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท ซึ่งหลายประเทศในภูมิภาคและกลุ่ม G7 กล่าวหาว่าเป็นการใช้กำลังข่มขู่และบีบบังคับ

(แฟ้มภาพ) เรือของหน่วยยามฝั่งจีนและเรือประมงฟิลิปปินส์ ในทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท เมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม (Photo by Ted ALJIBE / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 15 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งอนุมัติกฎใหม่ให้หน่วยยามฝั่งของชาติตนสามารถกักตัวชาวต่างชาติได้ฐานบุกรุกทะเลจีนใต้ที่เป็นข้อพิพาท

จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมด โดยมองข้ามการอ้างสิทธิ์จากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงฟิลิปปินส์ และเพิกเฉยต่อคำตัดสินระหว่างประเทศที่ระบุว่าคำกล่าวอ้างของจีนไม่มีพื้นฐานทางกฎหมาย

จีนส่งหน่วยยามฝั่งและเรืออื่นๆ ออกลาดตระเวนในน่านน้ำพิพาทอยู่บ่อยๆ และเปลี่ยนแนวปะการังหลายแห่งให้กลายเป็นเกาะเทียมติดอาวุธทหาร และช่วงที่ผ่านมาเรือของจีนและฟิลิปปินส์เผชิญหน้ากันหลายครั้งในพื้นที่ดังกล่าว

จีนเผยแพร่กฎระเบียบใหม่ผ่านทางออนไลน์ระบุว่า ตั้งแต่ 15 มิถุนายนเป็นต้นไป หน่วยยามฝั่งของจีนสามารถจับกุมชาวต่างชาติที่ต้องสงสัยว่าละเมิดการเข้าออกดินแดน และอนุญาตให้กักตัวไว้ได้นานถึง 60 วันหากเป็นกรณีซับซ้อน

"เรือต่างชาติที่เข้ามาในน่านน้ำอาณาเขตของจีนและน่านน้ำใกล้เคียงอย่างผิดกฎหมายอาจถูกควบคุมตัว" กฏใหม่ระบุ

ขณะที่รัฐบาลมะนิลากล่าวหาว่า หน่วยยามฝั่งของจีนมีพฤติกรรมป่าเถื่อนและไร้มนุษยธรรมต่อเรือของฟิลิปปินส์ด้วยการใช้ปืนแรงดันน้ำโจมตีเรือของฟิลิปปินส์หลายครั้งในน่านน้ำพิพาท และเมื่อเดือนที่แล้วประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์แสดงความกังวลว่ากฎใหม่ของจีนอาจทำให้ข้อพิพาทบานปลาย

พล.อ.โรมิโอ บรอว์เนอร์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของฟิลิปปินส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวเมื่อวันศุกร์ว่า เจ้าหน้าที่ในกรุงมะนิลากำลังหารือเกี่ยวกับขั้นตอนต่างๆ ที่ต้องดำเนินการเพื่อให้เราสามารถปกป้องชาวประมงของเราจากการคุกคามได้

ชาวประมงฟิลิปปินส์ได้รับคำแนะนำว่า "อย่ากลัว" และให้ดำเนินกิจกรรมตามปกติเพื่อตกปลาในเขตเศรษฐกิจจำเพาะที่เป็นของฟิลิปปินส์

ขณะที่กลุ่ม G7 ตำหนิการกระทำของจีนเช่นกัน

"เราต่อต้านการใช้กำลังทหารของจีน ตลอดจนกิจกรรมบีบบังคับและการข่มขู่ในทะเลจีนใต้" ตามถ้อยแถลงในช่วงท้ายของการประชุมสุดยอดเมื่อวันศุกร์

ทะเลจีนใต้เป็นทางน้ำที่สำคัญ ซึ่งเวียดนาม, มาเลเซีย และบรูไนก็มีการอ้างสิทธิ์ทับซ้อนในบางส่วนเช่นกัน

การเผชิญหน้าบ่อยครั้งระหว่างจีนและฟิลิปปินส์ทำให้เกิดความกังวลในวงกว้างว่าจะมีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้ ซึ่งอาจดึงสหรัฐฯ และพันธมิตรอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง

ทั้งนี้ การค้าทางเรือมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์ต้องพึ่งพาทะเลจีนใต้ในแต่ละปี และเชื่อกันว่าแหล่งน้ำมันและก๊าซที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์จำนวนมากมีอยู่ใต้ก้นทะเล รวมทั้งความสำคัญในฐานะแหล่งอาหารสำหรับประชากรที่เพิ่มขึ้น

จีนได้ออกมาปกป้องกฎใหม่ของหน่วยยามฝั่ง โดยโฆษกกระทรวงการต่างประเทศกล่าวเมื่อเดือนที่แล้วว่าเจตนาของพวกเขาเป็นไปเพื่อรักษาความสงบเรียบร้อยในทะเลให้ดีขึ้น

ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของจีนเตือนเมื่อไม่นานมานี้ว่า จีนเองก็มีข้อจำกัดต่อการยับยั้งชั่งใจในทะเลจีนใต้เช่นกัน โดยอ้างถึงเรือรบสหรัฐฯ และเรือรบอื่นๆ ของชาติตะวันตกที่แล่นผ่านทะเลจีนใต้

กองทัพเรือสหรัฐฯ และชาติอื่นๆ ดำเนินการแล่นเรือผ่านเส้นทางดังกล่าวเพื่อยืนยันเสรีภาพการเดินเรือในน่านน้ำสากล แต่รัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็นการละเมิดอธิปไตยของตน ซึ่งกองกำลังจีนและสหรัฐฯ เคยเผชิญหน้ากันอย่างใกล้ชิดในทะเลจีนใต้หลายครั้งอีกด้วย.

เพิ่มเพื่อน