ญี่ปุ่นต่อสัญญาจ่ายปีละ 6 หมื่นล้านให้ทัพสหรัฐคุ้มครอง

เผชิญความตึงเครียดทั้งจากจีนทั้งเกาหลีเหนือ รัฐบาลญี่ปุ่นขยายข้อตกลงสนับสนุนการวางกำลังพลสหรัฐในญี่ปุ่นต่อไปอีก 5 ปี ด้วยงบประมาณปีละ 61,388 ล้านบาท หลังจากเมื่อวันก่อนเพิ่งลงสามข้อตกลงกลาโหมกับออสเตรเลีย ด้านจีนตอกสามชาติสุมหัวกันตั้งแก๊งพุ่งเป้าเล่นงานชาติอื่น

โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น (ขวา) แตะศอกกับเรย์มอนด์ กรีน อุปทูตชั่วคราวของสถานทูตสหรัฐประจำญี่ปุ่น หลังการลงนามข้อตกลงมาตรการพิเศษฉบับใหม่ (เอสเอ็มเอ) และการวิจัยร่วมญี่ปุ่น-สหรัฐ ที่กรุงโตเกียว เมื่อวันที่ 7 ม.ค. 2565 (AFP)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 7 มกราคม 2565 อ้างคำแถลงของแอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐก่อนหน้าการประชุมระหว่างรัฐมนตรีต่างประเทศและกลาโหมของสหรัฐและญี่ปุ่น ที่กรุงวอชิงตันเมื่อวันพฤหัสบดีว่า รัฐบาลญี่ปุ่นและสหรัฐได้ลงนามข้อตกลงขยายมาตรการสนับสนุนระยะ 5 ปีจากญี่ปุ่น สำหรับการวางกำลังทหารอเมริกันประมาณ 50,000 นายบนดินแดนของญี่ปุ่น ข้อตกลงฉบับใหม่นี้จะทุ่มทรัพยากรมากขึ้นเพื่อเพิ่มความพร้อมทางทหารและความสามารถในการทำงานร่วมกัน

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ญี่ปุ่นสละสิทธิในการทำสงครามและพัฒนาความเป็นพันธมิตรใกล้ชิดกับสหรัฐ ขณะที่สหรัฐมีพันธะผูกพันตามสนธิสัญญาต้องปกป้องประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่อันดับสามของโลกแห่งนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นทำความตกลงสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการวางกำลังทหารอเมริกัน ตลอดจนค่าสาธารณูปโภคต่างๆ ข้อตกลงฉบับเก่าหมดอายุเมื่อเดือนมีนาคม 2564 และถูกขยายต่อไปอีก 1 ปีระหว่างช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาลสหรัฐ

ข้อมูลจากกระทรวงการต่างประเทศเผยว่า มาตรการสนับสนุนฉบับใหม่ระยะ 5 ปี ตกมูลค่า 211,000 ล้านเยน (61,388 ล้านบาท) ต่อปีงบประมาณ ซึ่งเพิ่มขึ้นราว 5%

ข้อตกลงฉบับใหม่นี้เกิดในช่วงยามที่มีความตึงเครียดเพิ่มขึ้นกับจีนที่รุกล้ำไต้หวันถี่ขึ้น รัฐบาลจีนถือว่าไต้หวันเป็นดินแดนส่วนหนึ่งของจีน แต่เกาะประชาธิปไตยแห่งนี้มีความใกล้ชิดกับทั้งสหรัฐและญี่ปุ่น

บลิงเคนกล่าวโทษว่า การกระทำที่ยั่วยุของจีนเป็นสาเหตุที่ทำให้มีความตึงเครียดมากขึ้นในช่องแคบไต้หวัน, ทะเลตะวันออก และทะเลจีนใต้

ขณะเดียวกัน เขากล่าวถึงโครงการมิสไซล์ของเกาหลีเหนือด้วยว่า เป็นภัยคุกคามอย่างต่อเนื่อง หลังจากเกาหลีเหนือเพิ่งทดสอบมิสไซล์ลูกแรกของปีไปเมื่อวันก่อน

แถลงการณ์ร่วมภายหลังการเจรจาของรัฐมนตรีทั้ง 4 ยังพุ่งเป้าโจมตีความพยายามของจีนเพื่อบ่อนทำลายระเบียบอันอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์ โดยเฉพาะกิจกรรมของจีนในทะเลตะวันออกและทะเลจีนใต้ ขณะเดียวกันยังแสดงความกังวลอย่างร้ายแรงเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิในเขตซินเจียงและฮ่องกง พร้อมกับเรียกร้อง "สันติภาพและเสถียรภาพ" ในช่องแคบไต้หวัน

ด้านหวัง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีน แถลงที่กรุงปักกิ่งเมื่อวันศุกร์ว่า จีน "ไม่พอใจอย่างรุนแรง และคัดค้านอย่างหนักแน่น ที่สหรัฐ, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แทรกแซงกิจการภายในของจีนอย่างหยาบคาย"

"สหรัฐ, ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย พูดถึงเสรีภาพ, การเปิดกว้าง และความอดกลั้น แต่ในความเป็นจริง พวกเขากำลังสุมหัวกันจัดตั้งแก๊งเล็กๆ ที่พุ่งเป้าประเทศอื่นๆ โดยโอ้อวดความแข็งแกร่งทางทหารและข่มขู่ทางทหาร" โฆษกจีนกล่าว

เมื่อวันพฤหัสบดี ญี่ปุ่นและออสเตรเลียเพิ่งลงนามสนธิสัญญาที่ทั้งสองฝ่ายคุยว่าเป็นหมุดหมายสำคัญ เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ด้านกลาโหม

อีกด้านหนึ่ง ในวันศุกร์ โยชิมาสะ ฮายาชิ รัฐมนตรีต่างประเทศของญี่ปุ่น เปิดเผยกับนักข่าวว่า เขาได้หยิบยกปัญหาเกี่ยวกับคลัสเตอร์โควิดภายในฐานทัพสหรัฐที่ญี่ปุ่นขึ้นกล่าวกับทางสหรัฐด้วย

ญี่ปุ่นเชื่อว่า การติดเชื้อแบบกลุ่มใหญ่ในฐานทัพสหรัฐแพร่เชื้อสู่ชุมชนท้องถิ่นในหลายพื้นที่ เมื่อวันศุกร์ รัฐบาลญี่ปุ่นได้อนุมัติข้อกำหนดควบคุมไวรัสชุดใหม่ใน 3 ภูมิภาค ที่เป็นที่ตั้งของฐานทัพสหรัฐหรืออยู่ใกล้เคียง โดยฮายาชิกล่าวว่า เขาได้เรียกร้องทางสหรัฐเสริมมาตรการต่อต้านการติดเชื้อไวรัส รวมถึงความพยายามเช่นการจำกัดการออกมานอกฐานทัพ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

จับตายกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า กังขาสภายกโขยงสัมพันธ์บริษัทจีน

นักวิชาการกังขา สภาฯ ดูงานบุหรี่ไฟฟ้าจีน ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ เรียกร้องสังคมจับตา กมธ.เอาข้อมูลบริษัทบุหรี่มาอ้างยกเลิกแบนบุหรี่ไฟฟ้า

เอาแล้ว! ทูตสหรัฐส่งหนังสือจี้ 'เศรษฐา' เร่งซื้อเอฟ-16

เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ ส่งหนังสือถึงนายกฯ เร่งเครื่องโค้งสุดท้ายดัน เอฟ-16 เสนอเงินกู้ยืม 9 ปีแต่เสียดอกเบี้ย -การค้าต่างตอบแทนกับไทย ก่อน ทอ. ฟันธงเลือกแบบในเร็วๆ นี้

'ตำรวจไซเบอร์' เปิดปฏิบัติการ! ทลายแก๊งคอลเซ็นเตอร์จีน ตั้งฐานเชียงใหม่

พล.ต.ท.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บัญชาการตํารวจสืบสวนสอบสวนอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (ผบช.สอท.), พล.ต.ต.อรรถสิทธิ์ สุดสงวน รอง ผบช.สอท.

เปิดผลวิจัยอเมริกา 'ออกกำลังกาย' เวลาไหนดีกว่ากัน

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา หัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า ประเด็นร้อน.. ออกกำลังเช้า หรือบ่าย-เย็น ดีกว่ากัน