บอลลูนขยะเป็นเหตุ โซลระงับข้อตกลงทางทหารกับเปียงยาง

ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ระงับข้อตกลงทางทหารระหว่างสองเกาหลีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเมื่อปี 2561 อย่างสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้เหตุโจมตีด้วยบอลลูนขยะจำนวนมากที่รัฐบาลเปียงยางส่งข้ามแดนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เจ้าหน้าที่ทหารเกาหลีใต้กำลังตรวจสอบวัตถุที่เชื่อว่าเป็นขยะของเกาหลีเหนือจากบอลลูนที่ลอยข้ามชายแดนมาตกบนถนนเส้นหนึ่งในกรุงโซล เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน (Photo by Handout / South Korean Defence Ministry / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 4 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ของเกาหลีใต้ อนุมัติการระงับข้อตกลงทางทหารระหว่างสองเกาหลีที่จัดตั้งขึ้นเพื่อลดความตึงเครียดบนคาบสมุทรเมื่อปี 2561 อย่างสมบูรณ์ เพื่อตอบโต้เหตุโจมตีด้วยบอลลูนขยะจำนวนมากที่รัฐบาลเปียงยางส่งข้ามแดนมาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลโซลได้ระงับข้อตกลงทางทหารที่มีระยะเวลา 5 ปีในบางส่วนไปแล้วเมื่อเดือนพฤศจิกายน ในการตอบสนองต่อการปล่อยขีปนาวุธเพื่อส่งดาวเทียมสอดแนมขึ้นสู่วงโคจรของเกาหลีเหนือ และกระทรวงกลาโหมเกาหลีเหนือตอบโต้กลับด้วยการประกาศระงับข้อตกลงทางทหารดังกล่าวทั้งหมดและจะไม่ปฎิบัติตามอีกต่อไป

เจ้าหน้าที่ความมั่นคงของเกาหลีใต้กล่าวว่า รัฐบาลโซลยังคงเคารพบางส่วนของข้อตกลงดังกล่าวอยู่ แต่การถูกโจมตีข้ามพรมแดนด้วยบอลลูนขยะกว่า 1,000 ลูก ถือเป็นการยั่วยุที่ทำให้ความอดทนหมดสิ้นลง

รัฐบาลได้เดินหน้าเรื่องการระงับข้อตกลงทางทหารที่จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2561 โดยคณะรัฐมนตรีได้ลงนามไปแล้ว และประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล เพิ่งอนุมัติขั้นตอนสุดท้ายในวันนี้

การยกเลิกข้อตกลงเพื่อความสงบอาจนำมาซึ่งความเคลื่อนไหวที่ทำให้เกาหลีใต้กลับมาซ้อมรบด้วยการใช้กระสุนจริงอีกครั้ง และเริ่มแคมเปญโฆษณาชวนเชื่อด้วยลำโพงตามแนวชายแดนติดกับเกาหลีเหนืออย่างที่เคยปฏิบัติก่อนหน้าเช่นกัน

เกาหลีใต้ใช้การรณรงค์ผ่านเสียงลำโพงซึ่งถือเป็นยุทธวิธีทางสงครามจิตวิทยาที่เกิดขึ้นตั้งแต่ยุคสงครามเกาหลีปี 2493-2496 เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้สิ่งที่เกาหลีใต้มองว่าเป็นการยั่วยุของเกาหลีเหนือ

การส่งข้อความเสียงผ่านลำโพงดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการถ่ายทอดทุกอย่างตั้งแต่วัฒนธรรมเคป๊อปไปจนถึงการโฆษณาชวนเชื่อต่อต้านรัฐบาลเปียงยาง ไปยังพื้นที่ใกล้กับเขตปลอดทหารที่แบ่งแยกทั้งสองประเทศ

การส่งข้อความเสียงดังกล่าวสร้างความโกรธเคืองให้กับรัฐบาลเปียงยาง ซึ่งก่อนหน้านี้เคยขู่ว่าจะใช้ปืนใหญ่โจมตีลำโพงทุกตัว หากไม่ยอมหยุดการออกอากาศ

รัฐบาลเปียงยางกล่าวว่า การส่งบอลลูนขยะข้ามแดนถือเป็นการตอบโต้ในแบบเดียวกับที่นักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีใต้ส่งข้ามไปยังเกาหลีเหนือ

นับตั้งแต่สงครามเกาหลีสิ้นสุดลงเมื่อ 70 ปีก่อนด้วยการสงบศึก ทั้งสองเกาหลีต่างยังคงสภาพรัฐในภาวะสงครามทางเทคนิค และแยกอธิปไตยจากกันด้วยพรมแดนที่มีการป้องกันอย่างแน่นหนา รวมถึงเขตปลอดทหาร (DMZ)

บ่อยครั้งที่นักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีใต้ได้ปล่อยบอลลูนที่ผูกติดใบปลิวโฆษณาชวนเชื่อข้ามพรมแดนไปเพื่อปลุกระดมให้ประชาชนเกาหลีเหนือต่อต้านการปกครองของคิมจองอึน และบางครั้งก็แนบเงินจำนวนหนึ่งส่งไปให้ผู้คนที่อาศัยอยู่ทางตอนเหนือของชายแดน

รัฐบาลเปียงยางสะสมความโกรธเคืองจากพฤติกรรมรณรงค์โฆษณาชวนเชื่อดังกล่าวของเกาหลีใต้มาตลอด เนื่องจากการไหลบ่าของข้อมูลภายนอกสังคมที่มีการควบคุมอย่างเข้มงวด อาจก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อระบอบการปกครองของผู้นำคิม โดยประเทศที่โดดเดี่ยวแห่งนี้มีความอ่อนไหวอย่างยิ่งต่อการที่ผู้คนได้เข้าถึงวัฒนธรรมสมัยนิยมที่เฟื่องฟูของเกาหลีใต้

ตามรายงานของสหประชาชาติ รัฐบาลเปียงยางถึงขั้นออกกฎหมายในปี 2563 เพื่อลงโทษบุคคลใดก็ตามที่ครอบครองหรือเผยแพร่เนื้อหาสื่อจากเกาหลีใต้ โดยมีโทษจำคุกตลอดชีวิตหรืออาจรับโทษประหารชีวิต

แม้รัฐบาลเปียงยางยกเลิกการส่งบอลลูนขยะแล้วเมื่อวันอาทิตย์ แต่ก็ส่งคำเตือนมาว่าจะทำเช่นนี้อีก หากนักเคลื่อนไหวชาวเกาหลีใต้กลับมารณรงค์ต่อต้านเกาหลีเหนืออีกครั้ง.

เพิ่มเพื่อน