สหรัฐยกย่อง 'ยุคใหม่แห่งความมั่นคง' ในเอเชียแปซิฟิก

รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ ยกย่อง "ยุคใหม่แห่งความมั่นคง" ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ขณะที่รัฐบาลวอชิงตันเสริมความแข็งแกร่งให้กับเครือข่ายพันธมิตรที่มีเป้าหมายเพื่อตอบโต้อำนาจและอิทธิพลทางการทหารที่เพิ่มมากขึ้นของจีน

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐเข้าร่วมการประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย หรือแชงกรีล่า ไดอะล็อก ครั้งที่ 21 ที่สิงคโปร์ เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน (Photo by NHAC NGUYEN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า การประชุมสุดยอดความมั่นคงเอเชีย หรือแชงกรีล่า ไดอะล็อก (Shangri-La Dialogue: SLD) ในปีนี้จัดขึ้นที่ประเทศสิงคโปร์ ระหว่างวันที่ 31 พฤษภาคม - 2 มิถุนายน โดยมีเจ้าหน้าที่กลาโหมจากทั่วโลกเข้าร่วม และไฮไลท์อยู่ที่การพูดคุยกันระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน

ลอยด์ ออสติน รัฐมนตรีกลาโหมสหรัฐฯ และต่ง จวิน รัฐมนตรีกลาโหมจีน เป็นตัวแทนในการเจรจาเมื่อวันศุกร์ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกระหว่างผู้นำด้านกลาโหมของทั้งสองประเทศในรอบ 18 เดือน

จีนยกเลิกการสื่อสารทางทหารกับสหรัฐฯ ในปี 2565 เพื่อตอบโต้การเยือนไต้หวันของแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐในขณะนั้น

ความตึงเครียดระหว่างรัฐบาลวอชิงตันและปักกิ่งยังถูกกระตุ้นอีกจากประเด็นต่างๆ เช่น บอลลูนจารกรรมของจีนที่ถูกยิงตกเหนือน่านฟ้าของสหรัฐ, ความช่วยเหลือทางทหารของสหรัฐที่มีแก่ไต้หวัน และการพบกันระหว่างประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ของไต้หวันในขณะนั้น กับเควิน แมกคาร์ธี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐผู้สืบทอดตำแหน่งต่อจากเพโลซี

การหารือเมื่อวันศุกร์ทำให้เกิดความหวังว่าทั้งสองมหาอำนาจอาจมีการเจรจาทางทหารเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยป้องกันไม่ให้ปัญหาที่ขัดแย้งกันลุกลามบานปลายไปกว่าเดิม

ออสตินกล่าวว่า สหรัฐและจีนจะกลับมาสื่อสารระหว่างทหารต่อทหารในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า ขณะที่รัฐบาลปักกิ่งก็กล่าวยกย่องความสัมพันธ์ด้านความมั่นคงที่ "มั่นคงยิ่งขึ้น" ระหว่างประเทศทั้งสอง หลังการเจรจาดังกล่าว

การพูดคุยทางทหารในรอบ 18 เดือนนี้เกิดขึ้นหนึ่งสัปดาห์หลังจากที่จีนจัดการซ้อมรบรอบไต้หวันและเตือนว่าอาจมีการทำสงครามเพื่อยึดคืนมา ภายหลังการเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ ซึ่งรัฐบาลปักกิ่งมองว่าเป็น "ผู้ที่เป็นอันตรายต่อการแบ่งแยกดินแดน"

ประเด็นไต้หวันถือเป็นหนึ่งในข้อพิพาทที่ยุ่งยากที่สุดระหว่างความสัมพันธ์ของสหรัฐและจีน

ในการประชุมหลักกับหลายประเทศในเอเชียแปซิฟิกเมื่อวันเสาร์ ออสตินได้กล่าวตอกย้ำความมุ่งมั่นของสหรัฐที่มีต่อภูมิภาคนี้ว่า เอเชียแปซิฟิกยังคงเป็นศูนย์ปฏิบัติการที่มีความสำคัญต่อรัฐบาลวอชิงตัน โดยระบุว่า "สหรัฐฯ จะมั่นคงได้ก็ต่อเมื่อเอเชียมั่นคงเช่นเดียวกัน"

ตั้งแต่ญี่ปุ่นไปจนถึงออสเตรเลีย สหรัฐได้กระชับความสัมพันธ์ด้านกลาโหมอย่างแน่นแฟ้นทั่วทั้งภูมิภาค ทั้งเพิ่มการซ้อมรบร่วม และการส่งเรือรบและเครื่องบินรบมาประจำการในช่องแคบไต้หวันและทะเลจีนใต้ ซึ่งสร้างความโกรธเคืองแก่จีนเป็นอย่างมากถึงขั้นกล่าวหาสหรัฐว่ากำลังพยายามสร้าง "นาโตเวอร์ชันเอเชียแปซิฟิก" ซึ่งเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่สุดต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค

ออสตินกล่าวสุนทรพจน์ในที่ประชุมว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา มีการบรรจบกันครั้งใหม่ด้านความมั่นคงเกือบทุกมิติในเอเชียแปซิฟิก บนพื้นฐานความเข้าใจร่วมกันในพลังแห่งความร่วมมือ

"การบรรจบกันครั้งใหม่นี้กำลังสร้างเครือข่ายความร่วมมือที่แข็งแกร่งมากขึ้น, ยืดหยุ่นมากขึ้น และมีความสามารถมากขึ้น จนกลายเป็นยุคใหม่แห่งความมั่นคงในอินโดแปซิฟิก" ออสตินกล่าว และเสริมว่าการยัดเยียดเจตจำนงของประเทศใดประเทศหนึ่ง หรือการกลั่นแกล้งและบีบบังคับ จะไม่ทำให้เกิดความมั่นคงที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง ที่หมายถึงการรวมตัวกันและไม่แตกแยก อันเป็นทางเลือกเสรีของรัฐอธิปไตย

ทั้งนี้ ฟิลิปปินส์ซึ่งเป็นพันธมิตรตามสนธิสัญญาของสหรัฐ ถือเป็นจุดยุทธศาสตร์หลักของรัฐบาลวอชิงตันในการสร้างกลุ่มพันธมิตรทั่วทั้งภูมิภาค

เมื่อพิจารณาถึงตำแหน่งที่ตั้งในทะเลจีนใต้และความใกล้ชิดกับไต้หวันซึ่งจีนอ้างว่าเป็นของตนเอง การสนับสนุนจากฟิลิปปินส์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสหรัฐในกรณีที่เกิดความขัดแย้งใดๆในภูมิภาคนี้

ขณะที่ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์เองก็กล่าวว่า "การดำรงอยู่อย่างมีเสถียรภาพของสหรัฐฯ มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อสันติภาพในภูมิภาค"

การเผชิญหน้าซ้ำแล้วซ้ำเล่าระหว่างเรือของจีนและฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้กระตุ้นให้หลายฝ่ายเกิดความกลัวว่าความขัดแย้งอาจขยายตัวในวงกว้าง แต่ออสตินยืนกรานว่า ความมุ่งมั่นของรัฐบาลวอชิงตันที่จะปกป้องรัฐบาลมะนิลาภายใต้สนธิสัญญาป้องกันร่วมกันของพวกเขา จะมั่นคงและแข็งแกร่งอยู่เสมอ.

เพิ่มเพื่อน