ติน อู นักเคลื่อนไหวเมียนมาและคนสนิทของซูจี เสียชีวิตแล้ว

ติน อู นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีของอองซานซูจี เสียชีวิตแล้วในวัย 97 ปี

(แฟ้มภาพ) ติน อู นักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ยืนเคียงข้างนางอองซานซูจี ระหว่างการกล่าวสุนทรพจน์จากระเบียงสำนักงานใหญ่ของพรรคฯ ในกรุงย่างกุ้ง เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2558 (Photo by Ye Aung Thu / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 1 มิถุนายน 2567 กล่าวว่า ติน อู อดีตนายพลชาวเมียนมาที่ผันตัวเป็นนักเคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยและสมาชิกผู้ก่อตั้งพรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย (เอ็นแอลดี) ของนางอองซานซูจี เสียชีวิตแล้วในวัย 97 ปี

เขาเสียชีวิตเมื่อเช้าวันเสาร์ที่โรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงย่างกุ้ง หลังเข้ารับการรักษาปัญหาด้านสุขภาพมาระยะหนึ่งแล้ว แต่ไม่ได้มีการระบุสาเหตุการเสียชีวิตที่แน่ชัด

ทั้งนี้ ติน อู เคยรับราชการเป็นผู้บัญชาการกองทัพภายใต้การนำของนายพลเนวิน ก่อนถูกบังคับให้ออกจากตำแหน่งจากข้อกล่าวหาว่าปกปิดข้อมูลเกี่ยวกับแผนการรัฐประหารซึ่งไม่ประสบความสำเร็จ

ภายหลังการประท้วงครั้งใหญ่ต่ออดีตเผด็จการทหารในปี 2531 เขาร่วมก่อตั้งพรรคเอ็นแอลดีที่สนับสนุนประชาธิปไตย และได้กลายมาเป็นหนึ่งในคนสนิทที่ใกล้ชิดที่สุดของอองซานซูจี

ติน อู ถูกกองทัพควบคุมตัวมานานกว่าทศวรรษในการปราบปรามที่เกิดขึ้นหลังการประท้วงในปีดังกล่าว

เขาถูกจับกุมอีกครั้งพร้อมกับซูจีในปี 2546 หลังจากกลุ่มสนับสนุนรัฐบาลทหารโจมตีขบวนรถของพวกเขาและคร่าชีวิตผู้คนไปหลายสิบราย

ในปี 2560 ติน อู ป่วยเป็นโรคหลอดเลือดสมอง ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีมานี้เขาต้องถอยออกจากเวทีการเมือง เนื่องจากความชราภาพและสุขภาพที่ไม่ดี

ภายหลังการรัฐประหารปี 2564 พรรคเอ็นแอลดีตกเป็นเป้าหมายในการปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างนองเลือดของรัฐบาลทหาร โดยอดีตสมาชิกสภานิติบัญญัติ 1 คนถูกประหารชีวิตจากโทษประหารเป็นครั้งแรกในรอบหลายทศวรรษของเมียนมา

ในปี 2566 คณะกรรมการการเลือกตั้งของรัฐบาลทหารเมียนมาประกาศให้พรรคสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตยสิ้นสุดความเป็นพรรคการเมือง เนื่องจากผิดเงื่อนไขภายใต้กฎหมายเลือกตั้งที่รัฐบาลทหารบัญญัติขึ้นใหม่ตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม โดยกฎหมายใหม่ที่บังคับใช้สำหรับพรรคการเมืองมีเนื้อหากำหนดให้บรรดาพรรคทั้งในปัจจุบันและที่จะตั้งใหม่ ต้องลงทะเบียนกับคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ภายใน 60 วัน ซึ่งพรรคเอ็นแอลดีไม่สามารถลงทะเบียนใหม่ได้ภายใต้กฎหมายดังกล่าวได้ จึงถูกถอดถอนออกจากการเลือกตั้งที่ระบุว่าอาจจัดขึ้นในปี 2568.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'อ.ไชยันต์' จับตาการเมืองไทยอาจเข้าสู่แพร่งที่สอง หวังพรรคการเมืองผลัดเปลี่ยนเป็นรัฐบาล

ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง "ทางสองแพร่งการเมืองไทย" มีเนื้อหาดังนี้