ศาลอินเดียเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือภาวะคลื่นความร้อนทั่วประเทศ โดยระบุว่ามีผู้เสียชีวิตหลายร้อยรายในช่วงหลายสัปดาห์ของสภาพอากาศที่เลวร้าย
เด็กอินเดียถือภาชนะบรรจุน้ำที่ทางการจัดหามาให้ ท่ามกลางคลื่นความร้อนรุนแรงในกรุงนิวเดลี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม (Photo by Money SHARMA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 31 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า อินเดียกำลังเผชิญกับภาวะคลื่นความร้อนรุนแรง โดยอุณหภูมิในหลายเมืองพุ่งสูงเกิน 45 องศาเซลเซียส จนศาลอินเดียออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลประกาศภาวะฉุกเฉินเพื่อรับมือสถานการณ์ดังกล่าวที่ทำให้ประชาชนเสียขีวิตไปแล้วจำนวนมาก
ทางการไม่ได้เผยแพร่ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากคลื่นความร้อนทั่วประเทศ แต่รัฐพิหารระบุเมื่อวันศุกร์ว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 14 รายจากโรคลมแดดท่ามกลางอุณหภูมิร้อนระอุเมื่อหนึ่งวันก่อนหน้า
ขณะที่ตุลาการศาลสูงในรัฐราชสถานซึ่งต้องทนทุกข์ทรมานจากสภาพอากาศที่ร้อนที่สุดในสัปดาห์นี้ระบุว่า ฝ่ายนิติบัญญัติล้มเหลวในการดำเนินขั้นตอนที่เหมาะสมเพื่อปกป้องประชาชนจากคลื่นความร้อน จนทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยคนในเดือนนี้
"เราไม่มีดาวเคราะห์ที่จะสามารถย้ายหนีไปได้ หากเราไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดในตอนนี้ เราจะสูญเสียโอกาสที่จะได้เห็นคนรุ่นต่อๆ ไปได้เติบโต" ศาลระบุ
นอกจากนี้ ศาลฯยังออกคำสั่งให้รัฐบาลจัดตั้งกองทุนเงินทดแทนสำหรับครอบครัวของบุคคลที่เสียชีวิตจากอาการป่วยเพราะสภาพอากาศร้อน และเสริมว่าอินเดียควรเริ่มประกาศให้ภาวะร้อนจัดเป็น "ภัยพิบัติระดับชาติ" พร้อมเปิดทางให้มีการระดมความช่วยเหลือฉุกเฉินในลักษณะเดียวกันกับภาวะน้ำท่วม, พายุไซโคลน และภัยพิบัติทางธรรมชาติอื่นๆ
กรุงนิวเดลีมีอุณหภูมิพุ่งสูงขึ้นในสัปดาห์นี้เช่นกัน จนทำให้อัตราการใช้พลังงานในมหานครซึ่งมีประชากรประมาณ 30 ล้านคน พุ่งขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในวันพุธ
ถือเป็นเรื่องปกติที่อินเดียมักเผชิญอุณหภูมิร้อนจัดในฤดูร้อน แต่การวิจัยทางวิทยาศาสตร์หลายปีพบว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศส่งผลให้ภาวะคลื่นความร้อนยาวนานขึ้น, บ่อยขึ้น และรุนแรงขึ้น
นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ได้ผลักดันให้เกิดผลกระทบด้านความร้อนครั้งใหญ่ในประเทศ และนั่นถือเป็นคำเตือนจากธรรมชาติ
แม้ประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกแห่งนี้เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่เป็นอันดับสามของโลกและมีการใช้ถ่านหินเพื่อผลิตไฟฟ้าเป็นส่วนใหญ่ แต่รัฐบาลอินเดียมีความมุ่งมั่นที่จะบรรลุเศรษฐกิจที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ให้ได้ภายในปี พ.ศ. 2613
รัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี กล่าวว่า ในปัจจุบันเชื้อเพลิงฟอสซิลยังคงเป็นหัวใจสำคัญในการตอบสนองความต้องการพลังงานที่เพิ่มขึ้นของอินเดีย และช่วยให้ผู้คนหลายล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ดังนั้นการดำเนินการด้านเชื้อเพลิงของอินเดียจะค่อยเป็นไปอย่างช้าๆ โดยยึดผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นหลัก.