เภสัชกรฝรั่งเศสรวมตัวหยุดงานประท้วงเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยทำการปิดร้านเนื่องจากวิกฤตขาดแคลนยา, ราคาที่ถูกควบคุม และการอนุญาตให้ขายยาได้อิสระทางออนไลน์
เภสัชกรฝรั่งเศสเดินขบวนประท้วงเรื่องปัญหาการขาดแคลนยาและการปรับปรุงค่าจ้าง ในกรุงปารีส เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม (Photo by OLYMPIA DE MAISMONT / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า ธุรกิจร้านขายยาในฝรั่งเศสประสบวิกฤตหนักจนเภสัชกรรวมตัวประท้วงปิดร้านเป็นครั้งแรกในรอบ 10 ปี รวมทั้งร่วมเดินขบวนประท้วงรัฐบาล เรียกร้องจัดการปัญหาค่าจ้าง, การขาดแคลนยา, การควบคุมราคายาอย่างเข้มงวด และการอนุญาตให้ขายยาได้อิสระทางออนไลน์
หลังแจ้งข่าวการหยุดงานประท้วงผ่านโปสเตอร์และอีเมลล์ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา ร้านขายยาประมาณ 90% ทั่วฝรั่งเศสได้ปิดทำการตลอดทั้งวัน ขณะที่ในบางภูมิภาคถึงขั้นปิดทุกร้านเลยทีเดียว
หน่วยงานท้องถิ่นกำลังเจรจาให้บางร้านช่วยระงับการประท้วงปิดร้าน เพื่อให้แน่ใจว่าเงื่อนไขความคุ้มครองสุขภาพขั้นต่ำสามารถดำเนินไปตามที่กฎหมายกำหนด
กลุ่มเภสัชกรเดินขบวนในเมืองต่างๆ เช่น ตูลูส, นีซ, อองเชร์ และลิโมจส์ พร้อมร้องตะโกนให้รัฐบาลหันมาสนใจแก้ปัญหา เช่นข้อความที่ว่า "ร้านขายยาเกิดวิกฤต=ภัยคุกคามต่อสุขภาพ" และ "อะม็อกซีซิลลินอยู่ที่ไหน=ยาปฏิชีวนะพื้นฐานกำลังขาดแคลน"
สหภาพเภสัชกรฝรั่งเศสระบุว่า มีผู้คนประมาณ 13,000 คนเข้าร่วมการเดินขบวนทั่วประเทศ ด้วยความกังวลเกี่ยวกับปัญหาการขาดแคลนยา, อุปสรรคในการดำเนินธุรกิจร้านขายยาในพื้นที่ชนบท และการปฏิรูปการฝึกอบรม เช่นเดียวกับเรื่องค่าตอบแทนและสภาพการทำงาน
"เราต้องหยุดการรักษาผู้ป่วยโรคเบาหวานชั่วคราว เพราะเราขาดยาฉีดไปหนึ่งตัว ซึ่งเราใช้เวลาหนึ่งชั่วโมงครึ่งหรือสองชั่วโมงทุกวันทางโทรศัพท์กับแพทย์, โรงพยาบาล และผู้ผลิตยา เพื่อจัดการปัญหาดังกล่าว" อิซาแบล ปายเลอร์ เภสัชกรอายุงาน 30 ปีซึ่งร่วมเดินขบวนที่มีผู้เข้าร่วม 400 คนในเมืองลิโมจส์ กล่าว
ฟิลิปป์ เบสเซ็ต ประธานสหภาพเภสัชกรกล่าวว่า "สำหรับวิชาชีพโดยรวมแล้ว ความกังวลที่ใหญ่ที่สุดคือการหายไปของร้านขายยา เนื่องจากพวกเขาเผชิญกับความยากลำบากทางเศรษฐกิจในพื้นที่ชนบท หรือแม้แต่ในเมืองใหญ่บางแห่ง"
ทั้งนี้ ร้านขายยาราว 2,000 แห่งปิดตัวทั่วประเทศในรอบ 10 ปี และเหลือร้านที่เปิดดำเนินการอยู่เพียง 20,000 แห่ง ตามข้อมูลสถิติของหน่วยงานการค้าฝรั่งเศส
สหภาพแรงงานต่างๆ เรียกร้องปรับปรุงค่าตอบแทนที่สูงขึ้นตั้งแต่ปีหน้า เนื่องจากอัตราเงินเฟ้อทำให้ต้นทุนของพวกเขาพุ่งสูงขึ้น ก่อนการเจรจากับหน่วยงานประกันสุขภาพแห่งชาติของฝรั่งเศสในสัปดาห์หน้า
อีกประการหนึ่ง เภสัชกรอ้างว่าราคายาในฝรั่งเศสซึ่งควบคุมโดยรัฐบาลนั้นต่ำกว่าในประเทศเพื่อนบ้าน จนส่งผลให้เกิดการขาดแคลน
นอกจากนี้ ประเด็นที่น่าปวดหัวอีกข้อหนึ่งคือความกังวลว่ารัฐบาลฝรั่งเศสกำลังพิจารณาอนุญาตให้มีการซื้อขายยาตามร้านค้าทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้น
"ทั้งหมดทั้งมวลนี้กำลังบั่นทอนและทำลายเครือข่ายร้านขายยาและอาชีพเภสัชกรมากขึ้นเรื่อยๆ ในร้านขายยาทั่วฝรั่งเศสซึ่งมีพนักงานทั้งหมด 130,000 คน" สหภาพเภสัชกรระบุ
ขณะที่รัฐบาลฝรั่งเศสยืนยันว่าการอนุญาตให้มีการซื้อขายยาตามร้านค้าทางออนไลน์ได้ง่ายขึ้นนั้นเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนและขจัดการผูกขาดยา พร้อมรับปากว่าจะไม่ขยายขอบเขตการซื้อขายยาไปอยู่ในซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ หรือในเครือข่ายซื้อขายสินค้าขนาดใหญ่อย่าง Amazon แน่นอน.