เกิดการปะทุภูเขาไฟครั้งใหม่บนคาบสมุทรเรคยาเนส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ ผู้คนในเมืองกรินดาวิกที่อยู่ใกล้เคียงต้องอพยพหนีอีกรอบ
กลุ่มเถ้าควันและลาวาที่ไหลออกมาจากรอยแยกใหม่ หลังการปะทุของภูเขาไฟครั้งล่าสุดบริเวณชานเมืองกรินดาวิก บนคาบสมุทรเรคยาเนส ทางตะวันตกเฉียงใต้ของไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม (Photo by HANDOUT / Icelandic Coast Guard / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 30 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ (IMO) ระบุในแถลงการณ์ว่า "เกิดการปะทุภูเขาไฟใกล้กับซุนดนุกสกิการ์ (Sundhnuksgigar) ทางตอนเหนือของเมืองกรินดาวิก (Grindavik) และการปะทุดังกล่าวมีความสูงถึงอย่างน้อย 50 เมตร"
บริเวณดังกล่าวอยู่บนคาบสมุทรเรคยาเนส (Reykjanes) ที่เพิ่งกลับสู่ภาวะสงบได้ไม่ถึง 3 สัปดาห์ หลังจากเผชิญการปะทุภูเขาไฟมาตลอดก่อนหน้านี้ตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม
นอกจากพลเมืองของกรินดาวิกแล้ว แหล่งท่องเที่ยวสำคัญใกล้เคียงการปะทุอย่าง 'บลูลากูน' ที่ให้บริการสปาความร้อนใต้พิภพและเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดของไอซ์แลนด์ เปิดเผยว่า ได้อพยพบุคลากรและลูกค้านักท่องเที่ยวออกจากสถานที่ดังกล่าวแล้วเมื่อวันพุธ
การปะทุครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 5 ที่เกิดขึ้นบนคาบสมุทรตั้งแต่เดือนธันวาคม
มีรายงานปริมาณแมกมาสะสมกว่า 20 ล้านลูกบาศก์เมตรใต้พื้นดินที่สวาร์ตเซนกี (Svartsengi) ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงไฟฟ้าที่จ่ายไฟฟ้าและน้ำให้กับผู้คนประมาณ 30,000 คนบนคาบสมุทร
โรงไฟฟ้าสวาร์ตเซนกีได้อพยพบุคลากรและเจ้าหน้าที่ออกจากพื้นที่ไปเกือบหมดแล้ว และส่วนใหญ่ได้ดำเนินการผ่านการควบคุมระยะไกลนับตั้งแต่การปะทุภูเขาไฟครั้งแรกเกิดขึ้นในภูมิภาคนี้เมื่อเดือนธันวาคม และได้มีการสร้างเครื่องกีดขวางเพื่อปกป้องโรงงานจากการไหลของลาวาและแมกมา
เช่นเดียวกับชาวเมืองกรินดาวิกประมาณ 4,000 คนที่ได้อพยพอย่างถาวรออกจากถิ่นฐานเดิมในเดือนพฤศจิกายน ก่อนการปะทุในเดือนธันวาคม, มกราคม, กุมภาพันธ์ และมีนาคม
เมื่อเย็นวันจันทร์ สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฯกล่าวว่า ตรวจพบการสั่นสะเทือนของแผ่นดินไหวประมาณ 400 ครั้งในช่วง 7 วันที่ผ่านมา ใกล้กับปล่องภูเขาไฟซุนดนุกสกิการ์ ก่อนการปะทุครั้งใหม่ในวันพุธ
ไอซ์แลนด์เป็นที่ตั้งของกลุ่มภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ 33 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในยุโรป และก่อนเดือนมีนาคม 2564 คาบสมุทรเรคยาเนสไม่มีการปะทุของภูเขาไฟเลยเป็นเวลานานกว่า 800 ปี และการกลับมาปะทุใหม่หลายครั้งในระยะหลัง ทำให้นักภูเขาไฟวิทยาเชื่อว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ในภูมิภาคนี้.