เม็กซิโกระดมกองกำลัง 27,000 นาย รักษาความปลอดภัยการเลือกตั้ง

เม็กซิโกจะส่งทหารและสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชาติประมาณ 27,000 นายมาเสริมความมั่นคงในการเลือกตั้งทั่วไปสุดสัปดาห์นี้ ภายหลังเกิดความรุนแรงพุ่งเป้าไปที่ผู้สมัครในพื้นที่

คลอเดีย เชนบาม ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีเม็กซิโกจากขั้วรัฐบาลเดิม (ซ้าย) และโซชิตล์ กัลเบซ คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้าน โดยคนใดคนหนึ่งคาดว่าจะได้เป็นผู้นำหญิงคนแรกของประเทศจากการเลือกตั้งที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน (Photo by ALFREDO ESTRELLA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 29 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า ทหารและสมาชิกกองกำลังพิทักษ์ชาติเม็กซิโกประมาณ 27,000 นาย ถูกจัดเตรียมไว้สำหรับเสริมความมั่นคงระหว่างการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในวันที่ 2 มิถุนายน

ประธานาธิบดีอันเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์กล่าวว่า เป้าหมายของปฏิบัติการในวันอาทิตย์นี้คือ การรับประกันให้ชาวเม็กซิกันสามารถลงคะแนนเสียงได้อย่างสงบ, ปลอดภัย และปราศจากความกลัว สอดรับกับพรรคประชานิยมฝ่ายซ้ายที่กำลังจะหมดวาระที่แสดงความมั่นใจเช่นกันว่าการเลือกตั้งจะสะอาด, เสรี และสงบสุข

นอกจากการลงคะแนนเสียงเพื่อให้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่แล้ว ชาวเม็กซิกันจะต้องเลือกสมาชิกสภาคองเกรส, ผู้ว่าการแต่ละรัฐ และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นอีกจำนวนมาก ซึ่งโดยรวมแล้วมีการชิงชัยกันมากกว่า 20,000 ตำแหน่ง

ปกติแล้วการใช้ความรุนแรงมักพุ่งสูงขึ้นในช่วงก่อนการเลือกตั้งของเม็กซิโก และในปีนี้ก็ไม่มีข้อยกเว้น

โรซา อิเซลา โรดริเกซ รัฐมนตรีกระทรวงความมั่นคงกล่าวว่า ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งในตำแหน่งท้องถิ่นถูกสังหารไปแล้ว 22 ราย นับตั้งแต่กระบวนการการเลือกตั้งเริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายนปีที่แล้ว

ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนบางแห่งรายงานตัวเลขที่สูงกว่านี้ โดยนับรวมการฆาตกรรมนักการเมืองท้องถิ่น ที่จำนวน 30 ราย

จากผลสำรวจความนิยมล่าสุดที่รวบรวมโดยบริษัทวิจัย Oraculus พบว่า คลอเดีย เชนบาม ผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรครัฐบาลเดิม มีคะแนนเสียงสนับสนุนประมาณ 56%

ขณะที่โซชิตล์ กัลเบซ คู่แข่งจากพรรคฝ่ายค้าน ตามมาเป็นอันดับสองด้วยคะแนนเสียงสนับสนุน 33% และฮอร์เก้ อัลวาเรซ เมย์เนซ จากพรรค Citizens' Movement ตามมาห่างๆที่คะแนน 12%

ทั้งนี้ การเลือกตั้งในวันอาทิตย์คาดว่าเม็กซิโกน่าจะได้ประธานาธิบดีหญิงเป็นครั้งแรก ไม่คนใดก็คนหนึ่งระหว่างคลอเดีย เชนบาม หรือโซชิตล์ กัลเบซ

อย่างไรก็ตาม วิกฤตความรุนแรงในประเทศที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากกว่า 450,000 รายและสูญหายหลายหมื่นคนนับตั้งแต่ปี 2549 ถือเป็นความท้าทายสำคัญที่ประธานาธิบดีคนต่อไปต้องเผชิญและแก้ปัญหาให้ได้โดยเร็ว เช่นเดียวกับปัญหาเศรษฐกิจและผู้อพยพพลัดถิ่น.

เพิ่มเพื่อน