อัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศได้ยื่นขอหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล และผู้นำกลุ่มฮามาส ในข้อหาต้องสงสัยก่ออาชญากรรมสงครามและก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอล (ซ้าย) และโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล (Photo by Abir SULTAN / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 21 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า คาริม ข่าน อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศ (ศาลโลก) ได้ยื่นขอหมายจับกลุ่มบุคคลหลักที่เกี่ยวข้องกับอาชญากรรมสงครามในฉนวนกาซา ทั้งฝั่งอิสราเอลและกลุ่มฮามาส
ข่านกล่าวว่าเขากำลังขอหมายจับนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู และโยอาฟ กัลแลนต์ รัฐมนตรีกลาโหมอิสราเอล ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่างๆ ที่เป็นเหตุให้เกิดความอดอยาก, การฆ่าโดยเจตนา, การทำลายล้าง และการฆาตกรรม
"เราขอยืนยันว่า ข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติถูกพิจารณาจากข้อเท็จจริงของการโจมตีพลเรือนปาเลสไตน์ในวงกว้างและเป็นระบบตามนโยบายของรัฐ การประเมินของเราบ่งชี้ว่าอาชญากรรมดังกล่าวยังคงดำเนินต่อไปจนถึงทุกวันนี้" อัยการฯกล่าว
นอกจากนี้ยังตั้งข้อกล่าวหาแบบเดียวกันกับผู้นำกลุ่มฮามาส ทั้งยาห์ยา ซินวาร์ ในฉนวนกาซา และอิสมาอิล ฮานีเยห์ ในกาตาร์ จากข้อหาก่อวินาศกรรม, การกระทำรุนแรงทางเพศ และการจับตัวประกันในสงคราม
"เราขอยืนยันว่าการโจมตีพลเรือนอิสราเอลอย่างกว้างขวางเป็นส่วนหนึ่งของการก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติอย่างเป็นระบบโดยกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธอื่นๆ ตามนโยบายขององค์กรเหล่านั้น" แถลงการณ์ของอัยการฯระบุ
ข่านยังกล่าวหาว่าผู้นำฮามาสทั้งสอง รวมทั้งโมฮัมเหม็ด เดอิฟ ซึ่งเป็นหัวหน้าฝ่ายติดอาวุธของฮามาส มีความผิดทางอาญาในการสังหารพลเรือนอิสราเอลหลายร้อยคน ระหว่างการโจมตีเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2566
ทั้งนี้ ประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งเป็นผู้นำประเด็นการโจมตีฉนวนกาซาของอิสราเอลขึ้นฟ้องต่อศาลฯว่าเป็นการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ แสดงความยินดีต่อการร้องขอหมายจับดังกล่าว และเชื่อว่ากฎหมายจะถูกบังคับใช้อย่างเท่าเทียมกันกับทุกคน
ในปี 2564 ก่อนหน้าสงครามฉนวนกาซา อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศได้เปิดการสอบสวนต่ออิสราเอล เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่นๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์
ข่านกล่าวว่า การสืบสวนในครั้งนั้นได้ขยายไปสู่ความรุนแรงที่เพิ่มขึ้นในเวลาต่อมา จนกลายเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามในเดือนตุลาคมปีที่แล้ว
ในความเคลื่อนไหวล่าสุดของประเด็นดังกล่าว กลุ่มฮามาสได้ออกมาตอบโต้อัยการฯว่า พวกเขาขอประณามอย่างรุนแรงต่อหมายจับผู้นำของกลุ่มฮามาส แต่ในทางกลับกันพวกเขาสนับสนุนอย่างแข็งขันต่อการขอหมายจับผู้นำอิสราเอล
ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลได้ออกมาคัดค้านการกระทำของอัยการฯ ด้วยความรังเกียจ ขณะที่อิสราเอล คาทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลประณามความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอัยการฯว่าเป็นความอัปยศทางประวัติศาสตร์ที่จะถูกจดจำตลอดไป
เช่นเดียวกับพันธมิตรใหญ่อย่างสหรัฐฯ ที่ออกมาวิพากษ์วิจารณ์ความเคลื่อนไหวดังกล่าวของอัยการฯอย่างดุเดือด โดยประธานาธิบดีโจ ไบเดน เรียกคำร้องขอหมายจับดังกล่าวว่าเป็นเรื่องอัปยศ ขณะที่แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศประณามคำร้องดังกล่าวว่าน่าละอาย
"ไม่ว่าอัยการคนนี้จะสื่อถึงอะไรก็ตาม เห็นได้ชัดว่าไม่มีความเท่าเทียมกันระหว่างอิสราเอลและฮามาส" ไบเดนกล่าวในแถลงการณ์
หลังจากนี้ ผู้พิพากษาของศาลอาญาระหว่างประเทศจะเป็นผู้พิจารณาว่าคำขอของอัยการฯมีคุณสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่จะออกหมายจับอย่างเป็นทางการหรือไม่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่อาจใช้เวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน
"วันนี้เราขอเน้นย้ำอีกครั้งว่ากฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายว่าด้วยการประหัตประหารด้วยอาวุธ มีผลบังคับใช้กับทุกคนอย่างเท่าเทียม ไม่มีทหารราบ, ไม่มีผู้บังคับบัญชา หรือผู้นำพลเรือน และไม่มีใครสามารถกระทำการโดยไม่ต้องรับโทษได้" คาริม ข่านกล่าว
หากหมายจับดังกล่าวได้รับการอนุมัติ หมายความว่าในทางเทคนิคแล้ว ภาคีสมาชิก 124 ประเทศของศาลฯจะต้องดำเนินการจับกุมเนทันยาฮูทันทีหากเขาเดินทางไปในพื้นที่ขอบเขตอำนาจศาลฯ
แม้ว่าหมายจับอาจทำให้การเดินทางของเนทันยาฮูยุ่งยากขึ้น แต่ศาลก็ไม่มีกลไกในการบังคับใช้หมายจับดังกล่าว ที่ทำได้คือพึ่งพาการดำเนินการของรัฐภาคีสมาชิกเป็นหลัก
ก่อนหน้านี้มีกระแสข่าวว่า ศาลฯได้เริ่มดำเนินคดีดังกล่าวไปบ้างแล้ว โดยตั้งแต่กลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา มีสมาชิกภาคี 5 ประเทศเรียกร้องให้ศาลฯสอบสวนกรณีสงครามระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาส ซึ่งคาริม ข่านกล่าวว่าคณะทำงานของเขารวบรวมหลักฐานที่เกี่ยวข้องได้จำนวนมาก
อย่างไรก็ตาม คณะทำงานฯไม่สามารถเข้าไปในพื้นที่ฉนวนกาซาหรือสอบสวนในอิสราเอลได้ เนื่องจากทั้งสองดินแดนไม่ใช่สมาชิกขององค์กรศาลอาญาระหว่างประเทศ
ถึงกระนั้น คาริม ข่านเคยเดินทางไปยังอิสราเอลปลายปีก่อน ตามคำร้องขอของผู้รอดชีวิตจากการโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม จากนั้นเขาก็เดินทางไปยังรามัลเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ที่ถูกยึดครองเพื่อพบกับเจ้าหน้าที่อาวุโสชาวปาเลสไตน์
องค์กรศาลอาญาระหว่างประเทศเริ่มดำเนินการครั้งแรกในปี 2545 โดยเป็นศาลอิสระเพียงแห่งเดียวในโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนความผิดร้ายแรงที่สุด ซึ่งรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ ถือเป็น "ศาลที่พึ่งสุดท้าย" ที่จะดำเนินการเฉพาะในกรณีที่ประเทศต่างๆ ไม่เต็มใจหรือไม่สามารถสอบสวนคดีต่างๆ ได้ด้วยตนเอง อย่างเช่นกรณีออกหมายจับประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย ในฐานะอาชญากรสงครามกรณีสั่งการรุนรานประเทศยูเครน รวมทั้งกรณีสั่งการให้พาตัวเด็กในยูเครนไปยังประเทศรัสเซียอย่างผิดกฏหมาย.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลุ่มฮามาสกล่าวหาอิสราเอลโจมตีโรงพยาบาลทางตอนเหนือของฉนวนกาซา
กลุ่มฮามาสกล่าวหาอิสราเอลว่าโจมตีทางอากาศที่โรงพยาบาลแห่งสุดท้ายในฉนวนกาซา กองทัพอิสราเอลยังคง “ใช้ระเบิ
'รอมฎอน' ชี้ช่องใช้อำนาจศาลอาญาระหว่างประเทศลุยคดีตากใบ!
นายรอมฎอน ปันจอร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน