ตอลิบันสั่งตัดหัว 'หุ่นโชว์' อ้างละเมิดหลักศาสนา

ระบอบตอลิบันมีคำสั่งให้เจ้าของร้านค้าในเมืองเฮรัตทางภาคตะวันตกของประเทศ ตัดหัวหุ่นโชว์ออกให้หมด โดยอ้างว่าศีรษะหุ่นโชว์เป็นรูปร่างแทนมนุษย์ซึ่งละเมิดกฎหมายอิสลาม

Getty Images

สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานว่า มีวิดีโอคลิปหนึ่งแพร่สะพัดทางโซเชียลมีเดีย ที่เผยให้เห็นว่าชายหลายคนกำลังใช้เลื่อยตัดหัวหุ่นโชว์หลายตัวในเมืองเฮรัต และทำให้ผู้คนทั้งในและนอกอัฟกานิสถานประณามหยามเหยียด โดยอาซิซ เราะห์มาน เจ้ากระทรวงส่งเสริมศีลธรรมและป้องกันสิ่งชั่วร้ายในเมืองเฮรัต ยืนยันกับเอเอฟพีเมื่อวันพุธที่ 5 มกราคม 2565 ว่าทางการเฮรัตมีคำสั่งดังกล่าวออกมาจริง

เจ้าของร้านบางคนพยายามหลีกเลี่ยงคำสั่งให้ตัดหัว โดยใช้วิธีนำผ้าพันคอหรือถุงมาคลุมหัวหุ่นโชว์ไว้ แต่เราะห์มานกล่าวว่านั่นยังไม่เพียงพอ

เจ้าของร้านค้าหลายคนในเมืองเฮรัต ซึ่งมีประชากรราว 600,000 คน รู้สึกโกรธกับคำสั่งนี้ บาชีร์ อาเหม็ด เจ้าของร้านเสื้อผ้า บอกกับผู้สื่อข่าวเอเอฟพีว่า อย่างที่เห็นว่าเขาตัดหัวหุ่นออกแล้ว หุ่นแต่ละตัวมีราคาตัวละ 5,000 อัฟกานี (ราว 1,600 บาท) เมื่อไม่มีหุ่นโชว์ แล้วคุณคิดว่าเราจะขายสินค้าของเราได้ยังไง ลูกค้าชอบที่จะเห็นเสื้อผ้าประดับอย่างเหมาะสมอยู่บนตัวหุ่น

หลังจากชิงอำนาจคืนได้เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2564 ระบอบตอลิบันเคยให้คำมั่นสัญญาว่ากลับมาคราวนี้พวกเขาจะโอนอ่อนลง ไม่ให้เหมือนกับการปกครองเมื่อปี 2540-2544 ซึ่งการสร้างสิ่งเทียมมนุษย์เป็นสิ่งผิดกฎหมาย แต่ตอนนี้ข้อบังคับหลายอย่างค่อยๆ ฟื้นคืนมา รวมถึงมีรายงานจากสื่อท้องถิ่นว่า มีคำสั่งให้ประชาชนทำละหมาดวันละ 5 ครั้ง ให้ผู้ชายไว้หนวดเครา และคัดค้านการแต่งกายแบบตะวันตก

ตอลิบันในยุคแรกตีความกฎหมายอิสลามอย่างเคร่งครัดและจำกัดเสรีภาพอย่างรุนแรง โดยเฉพาะกับผู้หญิงและเด็กหญิง คำสั่งใหม่ๆ ที่ตอลิบันยุคนี้เริ่มบังคับใช้อีกครั้งส่งผลกระทบต่อผู้หญิงโดยเฉพาะเช่นกัน ทำให้ผู้หญิงถูกบีบออกจากการใช้ชีวิตในสังคม โรงเรียนมัธยมส่วนใหญ่ปิดตัวลง รัฐบาลเลิกว่าจ้างผู้หญิงยกเว้นบางสาขาที่ต้องการความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ และสัปดาห์ที่ผ่านมายังมีคำสั่งใหม่ที่ห้ามผู้หญิงเดินทางไกลหากไม่มีญาติผู้ชายเดินทางไปด้วย.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

การร่วมต่อสู้กับการกดขี่สตรีเพศชาวอัฟกานิสถานของ ‘เจนนิเฟอร์ ลอว์เรนซ์’

ไปไม่ถึงการศึกษาระดับสูง ไม่มีสิทธิออกเสียง - กลุ่มตอลิบานจงใจจำกัดชีวิตของสตรีในอัฟกานิสถาน ด้วยภาพยนตร์สารคดีเรื่อง ‘

'นีลา อิบราฮิมิ' นักเคลื่อนไหวชาวอัฟกานิสถานได้รับรางวัล Children‘s Peace Prize

นีลา อิบราฮิมิ นักเคลื่อนไหวชาวอัฟกานิสถานวัย 17 ปี ซึ่งเป็นที่รู้จักจากผลงานของเธอในการต่อต้านการกดขี่สตรีโดย