ลอว์เรนซ์ หว่อง เข้าพิธีรับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์อย่างเป็นทางการ ขณะที่ลี เซียนลุงวางมือจากตำแหน่งที่ดำรงมานานสองทศวรรษ
ลอว์เรนซ์ หว่อง สาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีคนใหม่ของสิงคโปร์ ที่สำนักงานรัฐบาลอิสตานา เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม (Photo by Edgar Su / POOL / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 15 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า ลอว์เรนซ์ หว่องร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ ที่สำนักงานรัฐบาลอิสตานา เมื่อเวลาประมาณ 20.00 น. ตามเวลาท้องถิ่น (19.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) กลายเป็นบุคคลที่สองนอกตระกูลลีที่เป็นผู้นำประเทศที่ร่ำรวยแห่งนี้
"ข้าพเจ้าขอปฏิญาณว่า ข้าพเจ้าจะปฏิบัติหน้าที่ในฐานะนายกรัฐมนตรีโดยสุจริตตามกฎหมายและเต็มความรู้ความสามารถตลอดไป โดยปราศจากทั้งความกลัว, ความหลงไหล, ความเสน่หา และความประสงค์ร้าย" นายกรัฐมนตรีวัย 51 ปีกล่าว
สมาชิกคณะรัฐมนตรีของหว่องก็สาบานตนเข้ารับตำแหน่งเช่นกัน ซึ่งรวมถึงลี เซียนลุง อดีตนายกรัฐมนตรีวัย 72 ปีที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารัฐมนตรีอาวุโส
นักเศรษฐศาสตร์ที่ได้รับการศึกษาจากสหรัฐอเมริการายนี้ถูกชื่นชมในวงกว้างว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการทำงานกับสาธารณชน หลังมีผลงานในการรับมือวิกฤตการณ์โควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ สมัยที่ดูแลคณะทำงานเฉพาะกิจด้านโรคระบาดของรัฐบาล
นักวิเคราะห์การเมืองกล่าวว่า ลอว์เรนซ์ หว่องนำรูปแบบความเป็นผู้นำที่ปรับให้เข้ากับคนรุ่นต่างๆได้มากกว่าผู้นำรุ่นก่อน
"หลักการสำคัญของสิ่งที่สิงคโปร์เป็นจะยังคงอยู่ เพราะมันเป็นระบบที่ทำงานมาหลายปีแล้ว แต่สไตล์ของหว่องอาจแตกต่างกันเล็กน้อยเพราะเขามาจากยุคสมัยที่อยู่ตรงกลางระหว่างเก่าและใหม่" นักวิเคราะห์ฯกล่าว
หว่องซึ่งจะควบตำแหน่งรัฐมนตรีคลังด้วย ได้รับเลือกให้เป็นทายาททางการเมืองของลี เซียนลุงในปี 2565 จากความเห็นชอบของสมาชิกสภานิติบัญญัติรุ่นใหม่ของพรรคกิจประชาชน (พีเอพี) ซึ่งปกครองประเทศมาอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่สิงคโปร์ได้รับเอกราชในปี 2508 โดยมีลี กวน ยู (บิดาของลี เซียนลุง) เป็นนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ
หว่องเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 4 ในประวัติศาสตร์ของสิงคโปร์ และจะต้องเป็นผู้นำพรรคกิจประชาชนไปสู่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งต่อไป ซึ่งมีกำหนดอย่างช้าที่สุดคือเดือนพฤศจิกายน 2568 แต่อาจประกาศได้เร็วที่สุดในปีนี้
แม้ปัจจุบันฝ่ายค้านของสิงคโปร์ค่อยๆมีผลงานที่แข็งแกร่งขึ้นมากที่สุดนับตั้งแต่ได้รับเอกราช แต่ผลลัพธ์จากการเลือกตั้งครั้งก่อนในปี 2563 แทบจะไม่สร้างความเสียหายให้กับรัฐบาลชุดปัจจุบันเลย เพราะพรรคกิจประชาชนยังคงครองที่นั่งในสภานิติบัญญัติได้มากถึง 83 ที่นั่งจากทั้งหมด 93 ที่นั่ง
ทว่าภาพลักษณ์ที่สะอาดสะอ้านของพรรคกิจประชาชนเพิ่งถูกทำให้มัวหมองด้วยเรื่องอื้อฉาวที่ทำให้สมาชิกสภานิติบัญญัติ 2 คนลาออก และรัฐมนตรีคนหนึ่งถูกตั้งข้อหารับสินบน
ขณะที่พรรคแรงงาน ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของสิงคโปร์ ก็ประสบปัญหาเรื่องอื้อฉาวเช่นกัน โดยมีสมาชิก 2 คนลาออก และผู้นำพรรคถูกตั้งข้อหาให้การเป็นพยานเท็จต่อหน้าคณะกรรมการรัฐสภา.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'เทพไท' ยกย่อง นายกฯสิงคโปร์ ชี้นักการเมืองไทยต้องดูตัวอย่าง
นายเทพไท เสนพงศ์ อดีต สส.นครศรีธรรมราช โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "เทพไท- คุยการเมือง" โพสต์คลิปวีดีโอ โดยระบุว่า นักการเมืองไทย ต้องดูเป็นตัวอย่าง
นายกฯ ไทยหารือทวิภาคีนายกฯสิงคโปร์
'นายกฯอิ๊งค์' หารือทวิภาคี นายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ครั้งแรก จับมือส่งเสริมธุรกิจอาหาร-การท่องเที่ยว พร้อมรับผู้นำสิงคโปร์เยือนไทยอย่างสมเกียรติในปีหน้า
'ดร.เอ้' ชื่นชมอดีตนายกฯสิงคโปร์ วางมือทางการเมืองแล้วไปทำอะไร
นายสุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กว่า "ลีเซียนลุง" ลงจากนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์ แล้วไปทำอะไร? ยังแอบชักใยรัฐบาลไหม? ไปเป็นหัวหน้าพรรค?
'ดร.เอ้' ยก 'ลอว์เรนซ์ หว่อง' แนะ ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์ เร่งทำ 4 เรื่อง
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก เรื่อง "ผู้นำไทย ควรเรียนรู้จากสิงคโปร์" มีเนื้อหาดังนี้
'ดร.เอ้' มีคำตอบ ทำไม 'ลีกวนยู' เลือกพัฒนา 'คุณภาพคน-ราชการ' ก่อนเปิดกาสิโน
ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ดูแลพื้นที่กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก เอ้ สุชัชวีร์ ว่า