พายุสุริยะที่มีกำลังแรงที่สุดในรอบกว่าสองทศวรรษถล่มโลกเมื่อวันศุกร์ ทำให้เกิดปรากฏการณ์แสงสีบนท้องฟ้าตั้งแต่แทสเมเนียไปจนถึงอังกฤษ และยังคุกคามสัญญาณดาวเทียมและโครงข่ายไฟฟ้า
ออโรราออสตราลิสหรือที่รู้จักกันในชื่อแสงใต้ ส่องสว่างบนขอบฟ้าเหนือผืนน้ำของทะเลสาบเอลส์เมียร์ ชานเมืองไครสต์เชิร์ช ประเทศนิวซีแลนด์ เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม (Photo by Sanka Vidanagama / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 11 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า องค์การบริหารมหาสมุทรและชั้นบรรยากาศแห่งชาติสหรัฐอเมริกา (NOAA) รายงานการปล่อยพลาสมาและสนามแม่เหล็กออกจากดวงอาทิตย์ (พายุสุริยะ) หลังเวลา 16.00 น. ตามเวลามาตรฐานสากล (23.00 น. ตามเวลาประเทศไทย) ของวันศุกร์
ต่อมาเหตุดังกล่าวได้รับการยกระดับเป็นพายุแม่เหล็กโลกระดับ "รุนแรง" เป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ "พายุฮาโลวีน" เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 ซึ่งทำให้เกิดไฟดับในสวีเดน และทำให้โครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานเสียหายในแอฟริกาใต้ รวมทั้งการคาดการณ์ว่าจะมีพายุสุริยะโจมตีโลกมากขึ้นในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
ผู้คนในหลายพื้นที่ทั่วโลกต่างแตกตื่นกับปรากฏการณ์แสงสีบนท้องฟ้าหรือแสงออโรรา (แสงเหนือ - แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกเหนือ หรือแสงใต้ - แสงขั้วโลกที่เกิดในแถบขั้วโลกใต้) จากออสเตรเลียไปจนถึงยุโรป
มีการแจ้งเตือนสำหรับผู้ให้บริการดาวเทียม, สายการบิน และระบบโครงข่ายไฟฟ้าให้ใช้มาตรการป้องกันล่วงหน้า หากเกิดกรณีหยุดชะงักจากการเปลี่ยนแปลงของสนามแม่เหล็กโลก
อีลอน มัสก์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม 'Starlink' ประมาณ 5,000 ดวงในวงโคจรต่ำของโลก อธิบายว่าพายุสุริยะครั้งนี้เป็น "พายุที่ใหญ่ที่สุดในรอบระยะหลายสิบปี"
"ดาวเทียม Starlink อยู่ภายใต้แรงกดดันมหาศาล แต่ก็ยังดำเนินการต่อไปได้" มัสก์โพสต์บนแพลตฟอร์ม X ของเขา
ทั้งนี้ พายุสุริยะเดินทางด้วยความเร็วเฉลี่ยที่ 800 กิโลเมตรต่อวินาที โดยระเบิดออกมาจากจุดดับบนดวงอาทิตย์ซึ่งกว้างกว่าดาวเคราะห์โลกถึง 17 เท่า
สนามแม่เหล็กโลกอาจประสบความผันผวนจากพายุสุริยะดังกล่าว และส่งผลกระทบต่อสายรับจ่ายกระแสไฟฟ้าซึ่งอาจนำไปสู่ภาวะไฟดับจนกลายเป็นปัญหาทางวิศวกรรมได้
ยานอวกาศก็มีความเสี่ยงจากรังสีปริมาณสูงเช่นกัน แม้ว่าชั้นบรรยากาศจะป้องกันไม่ให้รังสีดังกล่าวเข้าถึงโลกก็ตาม
นาซามีทีมงานเฉพาะด้านที่ดูแลความปลอดภัยของนักบินอวกาศ และสามารถขอให้นักบินอวกาศบนสถานีอวกาศนานาชาติย้ายไปยังสถานที่ภายในด่านหน้าที่ได้รับการปกป้องที่ดีกว่า
ศูนย์พยากรณ์อากาศอวกาศสหรัฐระบุว่า ผู้ใช้สัญญาณวิทยุความถี่สูงอาจประสบกับสัญญาณขาดหายชั่วคราวหรือสูญเสียสัญญาณโดยสิ้นเชิงในพื้นที่ส่วนใหญ่ของโลกที่มีแสงแดดส่องถึง
เจ้าหน้าที่กล่าวว่าประชาชนควรมีแผนสำรองตามปกติสำหรับกรณีไฟฟ้าดับ เช่น ไฟฉาย, แบตเตอรี่ และวิทยุสื่อสาร.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
GISTDA แนะรับมือพายุสนามแม่เหล็กโลกระดับสูงสุด
GISTDA สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) ตั้งแต่ค่ำคืนวันที่ 10 พฤษภาคม 2567 เวลา 4 ทุ่มโดยประมาณตามเวลาประเทศไทย มนุษย์กำลังเผชิญกับพายุสนามแม่เหล็กโลกที่กระทบโลกรุนแรงเป็นนับตั้งแต่มีการติดตามสภาพอวกาศ