อัยการศาลอาญาระหว่างประเทศออกมาเตือนถึงกลุ่มบุคคลที่ขู่ว่าจะตอบโต้ต่อศาลหรือเจ้าหน้าที่ศาล โดยกล่าวว่าการกระทำดังกล่าวอาจถือเป็น "ความผิดต่อการบริหารงานยุติธรรม"
คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ (Photo by Luis ACOSTA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 3 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า ศาลอาญาระหว่างประเทศ (International Criminal Court - ไอซีซี) ประกาศให้เจ้าหน้าที่ขององค์กรเฝ้าระวังภัยที่อาจเกิดจากกลุ่มผู้ประสงค์ร้ายที่หวังคุกคามการดำเนินงานของศาล
คาริม ข่าน หัวหน้าอัยการของศาลอาญาระหว่างประเทศ ประกาศเตือน "บุคคลที่ขู่ว่าจะตอบโต้" ต่อศาลหรือเจ้าหน้าที่ศาลว่า การกระทำดังกล่าวอาจถือเป็นความผิดต่อการบริหารงานยุติธรรม
ศาลอาญาระหว่างประเทศไม่ได้ระบุว่า การออกประกาศเตือนดังกล่าวเกี่ยวข้องกับการสืบสวนอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นโดยอิสราเอลหรือกลุ่มปาเลสไตน์ในฉนวนกาซาและเวสต์แบงก์หรือไม่
สื่อสหรัฐฯ ระบุในสัปดาห์นี้ว่า ศาลโลกอาจออกหมายจับเจ้าหน้าที่อิสราเอล รวมถึงนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู จากกรณีละเมิดสิทธิมนุษยชนในฉนวนกาซา ซึ่งผู้นำอิสราเอลได้เรียกร้องให้ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ช่วยป้องกันไม่ให้ศาลดำเนินการเช่นนั้น
คาริม ข่านระบุว่า ตนพยายามที่จะมีส่วนร่วมอย่างเป็นกลางกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายในสภาวะเงื่อนไขที่สอดคล้องกับความยุติธรรมและอำนาจที่ศาลฯพึงมี
"เมื่อไหร่ก็ตามที่ศาลฯตัดสินใจดำเนินการสอบสวนใดๆที่อยู่ภายใต้อาณัติของตน แต่กลับถูกบุคคลขู่ว่าจะตอบโต้ศาลหรือเจ้าหน้าที่ศาล เมื่อนั้นความเป็นอิสระและความเป็นกลางก็จะถูกทำลายลงทันที"
"ภัยคุกคามดังกล่าวแม้ว่าจะไม่ได้มีการดำเนินการใดๆเป็นรูปธรรม แต่ก็อาจถือเป็นความผิดต่อการบริหารความยุติธรรมของศาลอาญาระหว่างประเทศได้"
"สำนักงานอัยการขอยืนยันว่า ความพยายามใดๆที่จะขัดขวาง, ข่มขู่ หรือชักจูงเจ้าหน้าที่อย่างไม่เหมาะสม ควรยุติลงทันที" ข่านกล่าว
สำนักงานของคาริม ข่านปฏิเสธที่จะตอบคำถามจากเอเอฟพีว่าคำขู่ตอบโต้นั้นเกี่ยวข้องกับเรื่องใด
นอกจากนี้ สำนักงานฯยังปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็นเมื่อถูกถามว่าประกาศเตือนนี้หมายถึงการสืบสวนอิสราเอลและสงครามในฉนวนกาซาหรือไม่
ศาลอาญาระหว่างประเทศเปิดการสอบสวนอิสราเอลในปี 2564 เช่นเดียวกับกลุ่มฮามาสและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์อื่นๆ เกี่ยวกับอาชญากรรมสงครามที่อาจเกิดขึ้นในดินแดนปาเลสไตน์
คาริม ข่านกล่าวว่า การสอบสวนที่ดำเนินไปในช่วงที่ผ่านมาได้ขยายขอบเขตการพิจารณาไปสู่การกระทำรุนแรงที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆจากความเป็นปรปักษ์ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์นับตั้งแต่การโจมตีที่เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมปีที่แล้ว
หนังสือพิมพ์นิวยอร์กไทมส์อ้างคำพูดของเจ้าหน้าที่อิสราเอลที่กล่าวว่านายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู อาจเป็นหนึ่งในผู้ที่ถูกศาลฯตั้งข้อหา ขณะที่ผู้นำกลุ่มฮามาสก็อยู่ในข่ายพิจารณาความผิดเช่นกัน
เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่อิสราเอลกลุ่มหนึ่งกล่าวว่าความพยายามใดๆ ของศาลฯที่จะดำเนินการกับอิสราเอลถือเป็นการละเมิดอำนาจอธิปไตย ขณะที่เนทันยาฮูเองก็ออกมาเปิดเผยเช่นกันว่า ศาลโลกจ่อออกหมายจับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลอิสราเอลและเจ้าหน้าที่ทหารในฐานะอาชญากรสงคราม
"ศาลโลกมุ่งดำเนินการโดยไม่พิจารณาข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์, เร่งรีบยัดข้อหา และพยายามทำให้อิสราเอลมีความผิดในคดีอาญา" เนทันยาฮูกล่าว
เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมา สหรัฐฯได้แสดงจุดยืนคัดค้านการสอบสวนของศาลโลกเกี่ยวกับพฤติกรรมของอิสราเอลในฉนวนกาซาเช่นกัน
ศาลอาญาระหว่างประเทศเป็นศาลอิสระเพียงแห่งเดียวในโลกที่จัดตั้งขึ้นเพื่อสอบสวนความผิดร้ายแรงที่สุดของผู้ต้องสงสัยรายบุคคล ซึ่งรวมถึงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์, อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมต่อมนุษยชาติ
โดยก่อนหน้านี้ ศาลฯเพิ่งออกหมายจับผู้นำระดับโลกล่าสุดคือ ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซีย จากกรณีรุกรานยูเครน
ทั้งนี้ สงครามในฉนวนกาซาเริ่มต้นขึ้นหลังการโจมตีของกลุ่มฮามาสทางตอนใต้ของอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 1,170 ราย และการโจมตีตอบโต้อย่างไม่หยุดยั้งของอิสราเอลได้คร่าชีวิตผู้คนไปแล้วอย่างน้อย 34,568 รายในฉนวนกาซา โดยส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดเหตุผล นายกฯกัมพูชา กล้าประกาศว่าจะได้พื้นที่จากฝ่ายไทยมากขึ้นกว่าเดิม
นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ คณบดีวิทยาลัยการแพทย์แผนตะวันออก มหาวิทยาลัยรังสิต โพสต์เฟซบุ๊ก เรื่อง แผนที่เขมรที่เตรียมใช้สู้ในศาลโลกรอบใหม่ มีเนื้อหาดังนี้
อิสราเอลต้องการ 'ซีเรียในแบบอื่น'
หลังจากการโค่นล้มบาชาร์ อัล-อัสซาด ผู้นำซีเรีย กองทัพอิสราเอลได้ดำเนินการโจมตีเป้าหมายทางทหารในซีเรียรวมแล้วประมาณ 480 ครั้งนับตั้งแต่วั
'ปิยบุตร' ท้านักการเมืองเขียนไว้ในรธน. 7 แนวทาง สกัดรัฐประหาร สำเร็จหรือไม่ต้องลองดู
นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ระบุว่า ความคิดของนักการเมืองที่เชื่อว่ากฎหมายไม่สามารถป้องกันรัฐประหารได้ ก็ไม่ได้หมายความว่า นักการเมืองไม่จำเป็นต้องตรากฎหมายเพื่อป้องกันรัฐประหาร