ตำรวจนิวยอร์กหลายสิบนายบุกมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย เพื่อขับไล่กลุ่มนักศึกษาที่เข้ายึดครองอาคารสถานที่อันเป็นส่วนหนึ่งของการประท้วงสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ที่เริ่มบานปลาย
เจ้าหน้าที่ตำรวจนิวยอร์กในชุดปราบจลาจลเดินขบวนไปยังวิทยาเขตของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งนักศึกษาที่สนับสนุนชาวปาเลสไตน์เข้ายึดครองอาคารเรียนและตั้งค่ายพักแรม ในนครนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 30 เมษายน (Photo by KENA BETANCUR / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 1 พฤษภาคม 2567 กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียซึ่งเป็นศูนย์กลางของการแสดงออกถึงการสนับสนุนชาวปาเลสไตน์ในสหรัฐฯ ปักหลักกางเต็นท์นอนตามสนามทั่ววิทยาเขต รวมทั้งยึดอาคาร 'แฮมิลตัน ฮอลล์' และยื่นข้อเรียกร้องให้ยุติความข้องเกี่ยวกับทรัพย์สินทางการเงินที่เชื่อมโยงกับอิสราเอล
ล่าสุด กองกำลังตำรวจนิวยอร์กปีนอาคารเข้าไปทางหน้าต่างชั้นสอง และกระจายกำลังเข้ายึดคืนพื้นที่จากกลุ่มนักศึกษา หลังพ้นเส้นตายที่ทางมหาวิทยาลัยออกคำสั่งให้กลุ่มผู้ประท้วงสลายตัวและคืนพื้นที่ทั้งหมด
จากนั้นนักศึกษาที่ยึดอาคารดังกล่าวก็ถูกนำตัวไปขึ้นรถตู้ของตำรวจในสภาพถูกใส่กุญแจมือ
ทั้งนี้ อาคารหลังดังกล่าวถูกกลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาเข้ายึดครองเมื่อรุ่งเช้าวันอังคาร โดยผู้ประท้วงปฏิญาณว่าจะต่อสู้ขัดขืนกับการขับไล่ใดๆ ก็ตาม
หลังเที่ยงคืนของวันพุธ เต็นท์ที่กลุ่มผู้ประท้วงตั้งขึ้นบนสนามหญ้าของมหาวิทยาลัยก็ถูกเจ้าหน้าที่มหาวิทยาลัยรื้อถอนออก และสิ่งของที่เหลือถูกโยนทิ้งในถุงขยะสีดำขนาดยักษ์
การดำเนินการดังกล่าวของกลุ่มนักศึกษาทำให้ผู้บริหารมหาวิทยาลัยทั่วสหรัฐอเมริกาอึดอัดมานานหลายสัปดาห์ ในความพยายามควบคุมการประท้วงที่มุ่งสนับสนุนชาวปาเลสไตน์
ในเอกสารที่ส่งถึงกรมตำรวจนิวยอร์ก มิโนช ชาฟิก อธิการบดีมหาวิทยาลัยโคลัมเบียกล่าวว่า เกิดการยึดครองอาคารเรียนโดยบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับมหาวิทยาลัย และขอให้ตำรวจนิวยอร์กช่วยนำกลุ่มบุคคลเหล่านั้นทั้งหมดออกจากอาคาร 'แฮมิลตัน ฮอลล์' รวมทั้งเต็นท์พักแรมทั้งหมดทั่วพื้นที่ของวิทยาเขต
เธอยังขอให้ตำรวจประจำการต่อไปในมหาวิทยาลัยจนถึงวันที่ 17 พฤษภาคมเป็นอย่างน้อย เพื่อให้แน่ใจว่าจะไม่มีเต็นท์พักแรมถูกจัดตั้งขึ้นอีก
ทั้งนี้ การประท้วงที่ดำเนินมาหลายสัปดาห์ ถือเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบที่กินพื้นที่อย่างกว้างขวางและยาวนานที่สุดที่เขย่ามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ นับตั้งแต่การประท้วงกรณีสงครามเวียดนามในช่วงทศวรรษ 1960 และ 1970 ซึ่งนำไปสู่การจับกุมนักศึกษาและนักเคลื่อนไหวคนอื่นๆ หลายร้อยคน
แม้แต่ทำเนียบขาวของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ยังวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเกี่ยวกับการยึดอาคารแฮมิลตัน ฮอลล์ โดยโฆษกคนหนึ่งกล่าวว่า "เป็นแนวทางที่ผิดอย่างยิ่ง" และ "นั่นไม่ใช่ตัวอย่างของการประท้วงอย่างสันติ"
การประท้วงต่อต้านสงครามในฉนวนกาซาซึ่งมีพลเรือนชาวปาเลสไตน์เสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ก่อให้เกิดความท้าทายต่อผู้บริหารมหาวิทยาลัยที่พยายามสร้างสมดุลระหว่างสิทธิในการพูดอย่างอิสระกับการร้องเรียนว่าการชุมนุมดังกล่าวมุ่งไปสู่การต่อต้านชาวยิวและคำพูดแสดงความเกลียดชัง
เป็นเวลาเกือบสองสัปดาห์แล้วที่กระแสการประท้วงต่อต้านสงครามของอิสราเอลในฉนวนกาซาได้แพร่กระจายไปทั่ววิทยาเขตของมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ จากฟากฝั่งหนึ่งไปอีกฝั่งหนึ่ง โดยมีจุดเริ่มต้นที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบียในนครนิวยอร์ก ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน
ที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กลุ่มผู้ประท้วงให้คำมั่นว่าจะดำเนินการประท้วงต่อไปจนกว่าข้อเรียกร้องจะได้รับการตอบสนอง ซึ่งรวมถึงการที่สถาบันการศึกษาของพวกเขาต้องยอมถอนการถือครองทางการเงินทั้งหมดที่เชื่อมโยงกับอิสราเอล แต่ทางมหาวิทยาลัยได้ปฏิเสธข้อเรียกร้องดังกล่าว พร้อมขู่ว่าหากไม่ยอมยุติและออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัยไปก่อนเส้นตาย พวกเขาจะถูกไล่ออก
ในการปะทะกันครั้งล่าสุดครั้งหนึ่งที่มหาวิทยาลัยนอร์ทแคโรไลนา แชเปิลฮิลล์ ตำรวจได้เคลื่อนพลเข้าเคลียร์พื้นที่ที่มีการตั้งแคมป์ และควบคุมตัวผู้ประท้วงบางส่วน
ที่มหาวิทยาลัยโพลีเทคนิคแห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย, ฮุมโบลดต์ การยึดครองพื้นที่ของกลุ่มผู้ประท้วงที่ยาวนานหนึ่งสัปดาห์สิ้นสุดลงเมื่อเช้าวันอังคาร หลังจากตำรวจเข้าจับกุมผู้ประท้วงเกือบสามสิบคนที่ยึดอาคารต่างๆ จนส่งผลให้ต้องปิดทำการมหาวิทยาลัย
ในรัฐโอเรกอน วิทยาเขตของมหาวิทยาลัยแห่งรัฐพอร์ตแลนด์ถูกสั่งปิดเมื่อวันอังคาร เนื่องจากกลุ่มผู้ประท้วงประมาณ 50 คนได้บุกเข้าไปในอาคารหนึ่งวันก่อนหน้านี้
ขณะที่มหาวิทยาลัยบราวน์บรรลุข้อตกลงที่กลุ่มผู้ประท้วงนักศึกษาจะย้ายเต็นท์พักแรมของพวกเขาออกจากพื้นที่มหาวิทยาลัย เพื่อแลกกับการที่สถาบันจะแยกตัวออกจากความข้องเกี่ยวกับอิสราเอล.