เขื่อนแตกในเคนยา มีผู้เสียชีวิตหลายสิบราย

มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย จากเหตุเขื่อนแตกใกล้เมืองหนึ่งในหุบเขาริฟต์ของเคนยาในช่วงเช้าตรู่ของวันจันทร์ ในขณะที่ทั้งประเทศต้องเผชิญฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลัน

ผู้หญิงคนหนึ่งอุ้มลูกไว้ด้านหลังและมองดูบ้านของเธอในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยโคลนซึ่งได้รับผลกระทบอย่างหนักจากฝนตกหนักและน้ำท่วมฉับพลันในเมืองไมมาฮิอู ในเขตนาคูรู ประเทศเคนยา เมื่อวันที่ 29 เมษายน มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 45 ราย หลังจากเขื่อนแตกใกล้เมืองดังกล่าว (Photo by LUIS TATO / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 29 เมษายน 2567 กล่าวว่า ประเทศเคนยากำลังเผชิญภาวะน้ำท่วมหนักจากเหตุเขื่อน 'Old Kijabe' แตกใกล้เมืองไมมาฮิอู ในเขตนาคูรู ที่ส่งผลให้มวลน้ำพุ่งลงมาตามเนินเขาและกลืนทุกสิ่งที่ขวางหน้า ทั้งน้ำท่วมถนน, ต้นไม้หักโค่น, บ้านเรือนพังพินาศ และยานพาหนะถูกพัดไปกับกระแสน้ำ

ภัยพิบัติครั้งนี้ทำให้ยอดผู้เสียชีวิตทั้งหมดในช่วงฤดูฝนเดือนมีนาคม-พฤษภาคมในเคนยาพุ่งสูงกว่า 120 ราย

เจ้าหน้าที่อาวุโสของสำนักงานตำรวจเขตนาคูรูบอกกับเอเอฟพีทางโทรศัพท์ว่า จนถึงขณะนี้สามารถเก็บกู้ศพได้แล้ว 45 ราย และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 110 คนที่ได้รับการรักษาในโรงพยาบาล

เจ้าหน้าที่กู้ภัยเร่งขุดค้นใต้ซากความเสียหายของบ้านเรือนเพื่อค้นหาผู้ที่อาจรอดชีวิต ขณะที่หน่วยงานสภากาชาดได้ใช้พื้นที่โรงเรียนในท้องถิ่นในการประสานงานช่วยเหลือครอบครัวที่ตามหาญาติผู้สูญหาย

คิธูเร คินดิกี รัฐมนตรีมหาดไทยเคนยากล่าวว่า รัฐบาลได้สั่งให้เจ้าหน้าที่ความมั่นคงและข่าวกรองตรวจสอบเขื่อนและอ่างเก็บน้ำของรัฐและเอกชนทั้งหมดในเขตอำนาจศาลของตนภายใน 24 ชั่วโมง และพิจารณาแนวทางการอพยพภาคบังคับ รวมไปถึงการตั้งถิ่นฐานใหม่ชั่วคราว

รายงานของรัฐบาลระบุว่า ตั้งแต่เดือนมีนาคม มีผู้เสียชีวิตในเคนยาแล้ว 76 ราย และมีผู้พลัดถิ่นมากกว่า 130,000 คน

ลมมรสุมทำให้เกิดฝนตกหนักอย่างมากในภูมิภาคนี้ ไม่ใช่เพียงแค่เคนยาประเทศเดียว แต่ยังส่งผลให้น้ำท่วมและดินถล่มในแทนซาเนีย ซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 155 ราย

เช่นเดียวกับน้ำท่วมหนักในเอธิโอเปียซึ่งมีรายงานผู้เสียชีวิต 4 ราย รวมทั้ง 2 รายในยูกันดา และ 2 รายในรวันดา

บุรุนดี หนึ่งในประเทศที่ยากจนที่สุดในโลก ก็ประสบปัญหาหนักจนประชาชนประมาณ 96,000 คนต้องกลายเป็นคนไร้ที่อยู่

ปลายปีที่แล้ว มีผู้เสียชีวิตจากฝนตกหนักและน้ำท่วมมากกว่า 300 รายในเคนยา, โซมาเลีย และเอธิโอเปีย ซึ่งย้อนแย้งกับการที่ภูมิภาคนี้ที่เพิ่งประสบภัยแล้งครั้งเลวร้ายที่สุดในรอบ 40 ปีที่ทำให้ผู้คนหลายล้านคนอดอยาก

องค์การอุตุนิยมวิทยาโลกของสหประชาชาติระบุเมื่อเดือนมีนาคมว่า ปรากฏการณ์เหล่านี้มาจากอิทธิพลของเอลนีโญที่ส่งผลให้สภาพอากาศแปรปรวน.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เร่งระดมสรรพกำลังแก้ไขเหตุ 'อ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำ' แตก ปชช.สูญหาย 1 ราย

เพจ ประชาสัมพันธ์จังหวัดมหาสารคามPRSarakham โพสต์ข้อความระบุว่า จ.มหาสารคาม เร่งระดมสรรพกำลังแก้ไขเหตุอ่างเก็บน้ำห้วยเชียงคำแตกที่อำเภอบรบือ

เตรียมใจยังร้อนกันอีกยาว 'เอลนีโญ'ส่อหวนกลับมาเร็ว

จากกรณีที่กรมอุตุนิยมวิทยาออกประกาศการติดตามและการคาดหมายปรากฏการณ์ที่ส่งผลกระทบต่อลักษณะอากาศเดือนเมษายนถึงเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 โดยมี 4 ปรากฏการณ์ ประกอบด้วย ปรากฏการณ์เอนโซ El Nino Southern Oscillation (ENSO) ปรากฏการณ์ Indian Ocean Dipole (IOD) ปรากฏการณ์ Madden Julian Oscillation (MJO) และลมมรสุม (Monsoon) นายสมควร ต้นจาน ผู้อำนวยการกองตรว