ปักกิ่งยื่นประท้วงโตเกียว หลังจากสมาชิกสภานิติบัญญัติของญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเดินทางเยือนหมู่เกาะที่เป็นข้อพิพาท โดยสถานทูตจีนประณามการเดินทางครั้งนี้ว่าเป็นการ "ยั่วยุ"
แฟ้มภาพ หมู่เกาะเซนกากุ (ญี่ปุ่น) หรือ หมู่เกาะเตียวหยู (จีน) ซึ่งเป็นข้อพิพาทด้านอธิปไตยดินแดนระหว่างสองชาติมาอย่างยาวนาน (Photo by CNA / CNA / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 28 เมษายน 2567 กล่าวว่า รัฐบาลปักกิ่งยื่นประท้วงอย่างเป็นทางการต่อรัฐบาลโตเกียว หลังพบว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติของญี่ปุ่นกลุ่มหนึ่งเดินทางเยือนหมู่เกาะเซนกากุ หรือที่จีนเรียกว่าเตียวหยู
คณะผู้แทน 5 คนนำโดยโทโมมิ อินาดะ อดีตรัฐมนตรีกลาโหม ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐบาลท้องถิ่นในการดำเนินการตรวจสอบทางทะเลเมื่อวันเสาร์
"เตียวหยูและหมู่เกาะโดยรอบถือเป็นดินแดนทางธรรมชาติของจีน" โฆษกของสถานทูตจีนในกรุงโตเกียวกล่าวผ่านคำแถลงที่โพสต์บนเว็บไซต์เมื่อวันอาทิตย์
"เพื่อตอบสนองต่อการกระทำที่ละเมิดและยั่วยุของญี่ปุ่น จีนได้ยื่นคำร้องต่อฝ่ายญี่ปุ่นอย่างจริงจัง" สถานทูตฯกล่าว
หมู่เกาะร้างอันห่างไกลในทะเลตะวันออกทำให้เกิดความตึงเครียดมายาวนาน และมักมีการเผชิญหน้าอยู่เป็นประจำระหว่างเรือยามชายฝั่งของญี่ปุ่นและเรือประมงของจีน
รัฐบาลปักกิ่งมีความขึงขังมากขึ้นเกี่ยวกับการอ้างสิทธิ์เหนือหมู่เกาะเหล่านี้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยรัฐบาลโตเกียวรายงานว่ามีเรือยามชายฝั่งของจีน, เรือรบ และแม้แต่เรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ป้วนเปี้ยนอยู่บริเวณน่านน้ำดังกล่าวบ่อยครั้ง
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวทำให้คณะผู้แทนญี่ปุ่นลงพื้นที่เพื่อทำการตรวจสอบและค้นหาความจริงนานหลายชั่วโมง ด้วยความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่เมืองอิชิงากิในภูมิภาคโอกินาวา
สถานีโทรทัศน์เอ็นเอชเครายงานว่า มีการตรวจสอบทางอากาศด้วยการบินโดรนด้วย และมีการเปิดเผยจากคณะผู้แทนฯว่า หน่วยยามฝั่งของจีนเข้าสู่น่านน้ำอาณาเขตเหล่านี้ราวกับว่าพวกเขาเป็นเจ้าของ ซึ่งถือเป็นการรุกล้ำและคุกคามที่ไม่น่าให้อภัยเช่นเดียวกัน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เก็บขยะศึกษาแหล่งที่มาในทะเล ปลุกความรับผิดชอบผู้ผลิต
กรม ทช. เก็บตัวอย่างขยะทะเลและศึกษาปริมาณขยะบริเวณชายฝั่งทะเลตะวันออก เพื่อตรวจสอบบาร์โค้ดเป้าหมายเพื่อให้ผู้ผลิตตระหนักถึงพลาสติกและขยะที่ตกค้างในสิ่งแวดล้อม และหันมาใช้บรรจุภัณฑ์ที่สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือย่อยสลายได้