สหรัฐจับมือ7ชาติบี้เมียนมาอนุญาตทูตอาเซียนพบ'ซูจี'

แฟ้มภาพ เอรีวาน ยูซอฟ ผู้แทนพิเศษของอาเซียนด้านเมียนมา (Getty Images)

รัฐบาลสหรัฐ, อังกฤษและพันธมิตรรวม 8 ประเทศบวกกับผู้แทนอียู ออกแถลงการณ์ร่วมเรียกร้องรัฐบาลเมียนมาอนุญาตให้ทูตพิเศษอาเซียนได้พบกับนางอองซาน ซูจี อีกด้านทนายของซูจีเผยโดนหมายสั่งปิดปากห้ามให้ข่าวกับสื่อและต่างประเทศ

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 15 ตุลาคม กล่าวว่า แถลงการณ์ร่วมที่ 8 ประเทศ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา, อังกฤษ, ออสเตรเลีย, แคนาดา, เกาหลีใต้, นิวซีแลนด์, นอร์เวย์ และอีสต์ติมอร์ ออกเผยแพร่ในวันเดียวกัน กล่าวว่า ประเทศเหล่านี้มีความห่วงกังวลอย่างยิ่งเกี่ยวกับสถานการณ์ที่เลวร้ายมากในเมียนมา และเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมาเกี่ยวพันอย่างสร้างสรรค์กับผู้แทนพิเศษของอาเซียน

"เรายังเรียกร้องเพิ่มเติมให้กองทัพอำนวยความสะดวกให้แก่การเยือนเมียนมาอย่างสม่ำเสมอโดยผู้แทนพิเศษของอาเซียน และให้เขาได้มีส่วนร่วมกับผู้ที่มีผลประโยชน์เกี่ยวข้องทั้งหมดอย่างอิสระ" แถลงการณ์ร่วม ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากโจเซป บอร์เรล หัวหน้าฝ่ายนโยบายต่างประเทศแห่งสหภาพยุโรป (อียู) กล่าว โดยหมายถึงเอรีวาน ยูซอฟ รัฐมนตรีต่างประเทศของบรูไนที่ได้รับแต่งตั้งจากอาเซียนตามแผน 5 ข้อ เพื่อหาทางออกให้แก่วิกฤติเมียนมา

รัฐบาลเมียนมาประกาศไว้ว่าจะไม่อนุญาตให้ยูซอฟพบกับบุคคลใดก็ตามที่ยังอยู่ระหว่างการไต่สวนพิจารณาคดี ซึ่งรวมถึงนางอองซาน ซูจี กระทรวงการต่างประเทศเมียนมายืนกรานอีกครั้งเมื่อวันพฤหัสบดีว่า ยูซอฟไม่สามารถทำเกินกว่าที่กฎหมายที่มีอยู่อนุญาตได้ และขอให้เขาเน้นที่การพบปะกับเจ้าหน้าที่ของรัฐบาลเมียนมาแทน

วันเดียวกัน ขิ่น หม่อง ซอ หัวหน้าทีมทนายความของอองซาน ซูจี เปิดเผยว่า รัฐบาลทหารเมียนมาออกคำสั่งห้ามเขาให้ข่าวกับสื่อมวลชน, นักการทูต และองค์กรระหว่างประเทศ โดยอ้างกฎหมายอาญามาตรา 144

อองซาน ซูจี โดนดำเนินคดีหลายข้อหา รวมถึงข้อหาปลุกปั่นยุยงและฝ่าฝืนมาตรการควบคุมไวรัสโคโรนา รัฐบาลทหารเมียนมาห้ามสื่อมวลชนเข้าฟังการพิจารณาคดีของศาลในคดีของซูจี และสื่อของทางการเมียนมาไม่เสนอข่าวการขึ้นศาลของซูจี ทีมทนายความของซูจีจึงเป็นแหล่งข้อมูลหลักที่เปิดเผยการไต่สวนคดีซูจีของศาล

คำสั่งที่ลงนามโดยเจ้าหน้าที่ระดับสูงของตำบลปินมะนาในกรุงเนปยีดอระบุว่า การสื่อสารของทนายผู้นี้ทำให้รบกวนหรือเป็นอันตรายกับผู้บังคับใช้กฎหมายและอาจทำให้เกิดความไม่สงบในสังคม เริ่มตั้งแต่วันที่ 14 ตุลาคม ห้ามทนายความขิ่น หม่อง ซอ สื่อสาร, ประชุม หรือพูดกับสื่อทั้งในประเทศและต่างประเทศ, นักการทูตต่างประเทศ, องค์กรระหว่างประเทศ, ผู้แทนจากรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรอื่นๆ นอกประเทศ ทั้งโดยตรงหรือโดยอ้อม

เอเอฟพีกล่าวว่า คำสั่งปิดทนายความผู้นี้มีออกมาหลังจากเขาถ่ายทอดคำให้การต่อศาลของอดีตประธานาธิบดีวิน มยิน ที่เผยว่าเขาปฏิเสธข้อเสนอของทหารที่ให้เขาลาออกเพื่อปกป้องตัวเขาเอง ระหว่างการรัฐประหารในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

วันเดียวกัน รอยเตอร์รายงานว่าไซฟุดดิน อับดุลเลาะห์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย บอกว่า เขาไม่ต้องการให้พลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย เข้าร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียนที่จะจัดประชุมแบบทางไกลระหว่างวันที่ 26-38 ตุลาคม ถ้าผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาไม่ปฏิบัติตามแผนสันติภาพที่ตกลงไว้กับอาเซียน แหล่งข่าวเผยว่าขณะนี้มี 3 ชาติ คือ มาเลเซีย, สิงคโปร์และอินโดนีเซีย ไม่ต้องการให้มิน อ่อง หล่าย ร่วมประชุม.

เพิ่มเพื่อน