สหประชาชาติเปิดลงคะแนนเสียงรับรองสถานะสมาชิกปาเลสไตน์ แต่สหรัฐฯใช้สิทธิ์วีโต้

คณะมนตรีความมั่นคงฯเปิดลงมติให้รัฐปาเลสไตน์เข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติ แต่สหรัฐอเมริกาใช้สิทธิ์ยับยั้ง จนผู้นำปาเลสไตน์ฉุนหนัก

(จากซ้ายไปขวา) ซิอัด อาบู อัมร์ ตัวแทนจากรัฐสภาของปาเลสไตน์ และริยาด มันซูร์ ทูตพิเศษปาเลสไตน์ประจำสหประชาชาติ รับฟังระหว่างการประชุมของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ที่สำนักงานใหญ่สหประชาชาติในนิวยอร์ก ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 18 เมษายน (Photo by ANGELA WEISS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 19 เมษายน 2567 กล่าวว่า คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเปิดลงคะแนนเสียงรับรองสถานะสมาชิกของรัฐปาเลสไตน์ ท่ามกลางกระบวนการที่ยืดเยื้อมานานกว่า 6 เดือน นับตั้งแต่สงครามฉนวนกาซาเริ่มต้นขึ้น

ซิอัด อาบู อัมร์ ตัวแทนจากรัฐสภาของปาเลสไตน์กล่าวกับสภาคณะมนตรีฯว่า การยอมรับรัฐปาเลสไตน์ในฐานะสมาชิกถาวรของสหประชาชาติจะขจัดความอยุติธรรมทางประวัติศาสตร์บางส่วนที่คนรุ่นต่อๆ ไปของชาวปาเลสไตน์ต้องเผชิญ และจะเป็นการเปิดโอกาสกว้างไกลต่อหน้าสันติภาพที่แท้จริงบนพื้นฐานของความยุติธรรม

อัยมาน ซาฟาดี รัฐมนตรีต่างประเทศจอร์แดน กล่าวสนับสนุนปาเลสไตน์ว่า ตราบใดที่ความอยุติธรรมของอิสราเอลยังคงปฏิเสธความเป็นมนุษย์ของชาวปาเลสไตน์ รวมทั้งสิทธิในการมีชีวิต, เสรีภาพ, ศักดิ์ศรี, ความมั่นคง และสถานะของรัฐ สันติภาพและความมั่นคงของประชาชนปาเลสไตน์ก็คงไม่เกิดขึ้น

ทั้งนี้ คำร้องขอเข้าเป็นสมาชิกสหประชาชาติของรัฐใดๆจะต้องได้รับการรับรองขั้นต้นจากคณะมนตรีความมั่นคงเสียก่อน โดยต้องได้คะแนนเสียงเชิงบวกอย่างน้อย 9 เสียงจากทั้งหมด 15 เสียง และต้องไม่มีการวีโต้จากชาติใดชาติหนึ่ง จากนั้นจึงจะเข้าสู่กระบวนการลงคะแนนเสียงของสมัชชาใหญ่ ซึ่งต้องได้รับความเห็นชอบจากเสียงข้างมาก 2 ใน 3

แอลจีเรียเป็นชาติที่เสนอให้สภาพิจารณาร่างมติสั้นๆ ก่อนส่งต่อสมัชชาใหญ่ว่า รัฐปาเลสไตน์ควรได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ

อย่างไรก็ตาม สหรัฐอเมริกาซึ่งเป็นพันธมิตรหลักของอิสราเอล ได้ใช้สิทธิ์ยับยั้ง (วีโต้) เพื่อปกป้องอิสราเอลมาตลอดตั้งแต่อดีต และไม่เคยแสดงออกถึงการสนับสนุนการเป็นสมาชิกสหประชาชาติของชาวปาเลสไตน์เลย โดยนักวิเคราะห์เชื่อว่าสหรัฐฯจะใช้สิทธิ์วีโต้อย่างแน่นอนในครั้งนี้ และอาจรวมถึงอังกฤษกับญี่ปุ่นด้วย

รัฐบาลวอชิงตันกล่าวว่าจุดยืนของตนไม่มีการเปลี่ยนแปลงนับตั้งแต่ปี 2554 ที่ปาเลสไตน์ยื่นคำขอเป็นสมาชิกครั้งแรก โดยกล่าวว่าสหประชาชาติไม่ใช่สถานที่สำหรับการรับรองรัฐปาเลสไตน์ แต่ต้องมาจากข้อตกลงสันติภาพกับอิสราเอล

ในทางเดียวกัน กิลาด เออร์ดาน ทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติตำหนิสภาฯว่ากำลังทบทวนเรื่องนี้ด้วยหลักศีลธรรมและความเห็นใจด้านสันติภาพ มากกว่าพิจารณาข้อเท็จจริงรอบด้านระดับรัฐ

รัฐบาลอิสราเอลคัดค้านวิธีแก้ปัญหาการปกครองแบบสองรัฐ ซึ่งได้รับการเข้าข้างโดยประชาคมระหว่างประเทศส่วนใหญ่ รวมถึงสหรัฐอเมริกาด้วย

การใช้สิทธิ์ยับยั้งมติการเป็นสมาชิกสหประชาชาติครั้งสุดท้ายเกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2519 เมื่อสหรัฐฯ ขัดขวางการเข้าร่วมของเวียดนาม

ก่อนการลงคะแนนเสียง อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ กล่าวในที่ประชุมระดับสูงของคณะมนตรีความมั่นคงกับรัฐมนตรีต่างประเทศหลายคน รวมทั้งจากจอร์แดนและอิหร่าน เกี่ยวกับสถานการณ์อันมืดมนในตะวันออกกลางว่า

"ไม่กี่วันมานี้ สถานการณ์ลุกลามอย่างน่ากลัวทั้งในด้านคำพูดและการกระทำ"

"การคำนวณผิดเพียงครั้งเดียว หรือการสื่อสารผิดพลาดเพียงครั้งเดียว อาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่คาดคิด ตลอดจนความขัดแย้งระดับภูมิภาคเต็มรูปแบบที่อาจสร้างความเสียหายให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง" กูเตอร์เรสกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด

กูเตอร์เรส ประณามการโจมตีด้วยขีปนาวุธและโดรนของอิหร่านต่ออิสราเอลในช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เช่นเดียวกับการโจมตีทางทหารของอิสราเอลในฉนวนกาซาที่ได้สร้าง "นรกแห่งมนุษยธรรม" สำหรับพลเรือนที่ติดอยู่ที่นั่น พร้อมเรียกร้องให้อิสราเอลดำเนินการมากกว่านี้เพื่อให้ความช่วยเหลือหลั่งไหลเข้าสู่ดินแดนที่ถูกปิดล้อม

ล่าสุด การลงคะแนนเสียงของคณะมนตรีฯทั้ง 15 ชาติในมติ "รัฐปาเลสไตน์ควรได้รับการยอมรับเป็นสมาชิกของสหประชาชาติ" ปรากฏว่ามติดังกล่าวได้รับคะแนนเสียงเห็นชอบ 12 เสียง, งดออกเสียง 2 เสียง และคัดค้าน 1 เสียงโดยสหรัฐอเมริกาที่ใช้สิทธิ์วีโต้ ทำให้ปาเลสไตน์หมดสิทธิ์เข้าร่วมในฐานะสมาชิกสหประชาชาติ

หลังทราบผล ทางการปาเลสไตน์ประณามสหรัฐฯ ทันที โดยสำนักงานของมาห์มูด อับบาส ผู้นำปาเลสไตน์ กล่าวในแถลงการณ์ว่า การกระทำของสหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงการรุกรานอย่างโจ่งแจ้งต่อกฎหมายระหว่างประเทศ และเป็นการสนับสนุนให้มีการทำสงครามฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ต่อประชาชนของปาเลสไตน์ ซึ่งจะผลักดันให้ภูมิภาคนี้ก้าวไปสู่ขอบเหวของหายนะ.

เพิ่มเพื่อน