พลเมืองเมียวดีเริ่มเคลื่อนไหวหลบหนีการต่อสู้ เข้าสู่ชายแดนเมียนมา-ไทย

พลเมืองเมียนมาในเมียวดีเริ่มอพยพหนีเสียงระเบิดข้ามพรมแดนมายังประเทศไทยเมื่อวันอังคาร หลังจากกลุ่มติดอาวุธชนกลุ่มน้อยชาติพันธุ์เข้ายึดฐานทัพทหารสำคัญในบริเวณใกล้เคียง

แฟ้มภาพ ผู้คนกำลังหลบหนีการสู้รบระหว่างทหารและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) ในรัฐกะเหรี่ยง ตามแนวชายแดนไทย-เมียนมา (Photo by AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 9 เมษายน 2567 กล่าวว่า หลังจากนักรบของสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (KNU) สามารถยึดฐานทัพทหารที่อยู่ห่างจากเมืองเมียวดีไปทางตะวันตกราว 10 กิโลเมตรได้เมื่อวันเสาร์ ทำให้บรรดาทหารของกองทัพ, ตำรวจเมียนมา และครอบครัวของคนเหล่านั้นมากกว่า 600 คน ยอมแพ้และมอบตัว

ล่าสุดในวันอังคาร มีรายงานว่าบรรดาชาวเมืองเมียวดียังคงได้ยินเสียงปืน, ระเบิด และเครื่องบิน จากการต่อสู้ของกองกำลังรัฐและกลุ่มต่อต้าน แม้จะไม่ปรากฏนักรบ KNU อยู่ในเมือง ขณะที่สะพานเชื่อมระหว่างเมียวดีกับอำเภอแม่สอดซึ่งอยู่บริเวณชายแดนของไทย ยังคงเปิดอยู่

ชาวเมืองให้ข้อมูลว่า ได้ยินเสียงระเบิดไม่ต่ำกว่า 2 ครั้ง, ร้านค้าส่วนใหญ่ปิดทำการ และคนในพื้นที่เริ่มอพยพไปยังชายแดนประเทศไทย

นอกจากนี้ บริการโทรศัพท์มือถือของเมียนมาใช้งานไม่ได้ ทำให้ผู้ที่ยังอยู่ในเมืองต้องเปลี่ยนไปใช้ซิมการ์ดของไทยแทน

หนึ่งในผู้อพยพจากเมียวดีให้ข้อมูลกับเอเอฟพีว่า เธอได้ละทิ้งถิ่นฐานมาเมื่อหลายสัปดาห์ก่อนหลังจากการปะทะครั้งแรกๆ และตอนนี้เธอกำลังพักพิงอยู่ที่บริเวณชายแดนไทย

"ขณะนี้ผู้พลัดถิ่นจำนวนมากอาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำระหว่างไทยและเมียนมา เราเห็นผู้คนหลายพันคนจากหมู่บ้านต่างๆ ข้ามพรมแดนทุกวัน" เธอกล่าว โดยหมายถึงผู้พลัดถิ่นเมียนมาที่หลบหนีจากการปะทะระหว่างกองทัพและกลุ่มต่อต้าน

รัฐมนตรีต่างประเทศของไทยกล่าวเมื่อวันอังคารว่า ประเทศได้เตรียมพร้อมที่จะเปิดรับผู้คนราว 100,000 คนที่หลบหนีออกจากเมียนมาในช่วงนี้ เพื่อตอบสนองด้านมนุษยธรรม

ประเทศไทยมีพรมแดนร่วม 2,400 กิโลเมตรกับเมียนมา ซึ่งพัวพันกับสงครามกลางเมืองนับตั้งแต่รัฐบาลทหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยในปี 2564

เมียวดีตั้งอยู่บนทางหลวงสายเอเชียที่ตัดจากชายแดนไทยไปยังเมืองย่างกุ้งที่ใหญ่ที่สุดของเมียนมา

เส้นทางนี้ยังตัดผ่านรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเผชิญปัญหาการต่อสู้กันมานานหลายทศวรรษระหว่างกองทัพและสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงซึ่งแสวงหาเอกราชสำหรับประชากรชาวกะเหรี่ยง

นับตั้งแต่การรัฐประหารในปี 2564 สหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยงได้ให้ที่พักพิงแก่ฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองของรัฐบาลทหาร และฝึกอบรมกองกำลังป้องกันประชาชนชุดใหม่เพื่อต่อสู้โค่นล้มการปกครองของทหาร

กองกำลังรักษาชายแดนรัฐกะเหรี่ยง ซึ่งเป็นกองกำลังติดอาวุธในท้องถิ่นที่ควบคุมพื้นที่ส่วนใหญ่ของเมืองเมียวดี ได้ประกาศในปีนี้ว่าจะไม่รับคำสั่งจากรัฐบาลเผด็จการทหารอีกต่อไป

นักวิเคราะห์กล่าวว่า ความเคลื่อนไหวดังกล่าวจะทำให้กองทัพสูญเสียการควบคุมในรัฐกะเหรี่ยงลงเรื่อยๆ.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

'ผู้การติ๊บ' ลุยคุมเข้มสกัดภัยคุกคามทุกรูปแบบ รักษาอธิปไตยไทย

พ.อ.ณัฐกร เรือนติ๊บ หรือ “ผู้การติ๊บ” ผู้บังคับหน่วยเฉพาะกิจราชมนู ซึ่งดูแลพื้นที่ชายแดนไทย-เมียนมา 5 อำเภอชายแดน จังหวัดตาก (แม่สอด-ท่าสองยาง-พบพระ-อุ้มผาง-แม่ระมาด)

'รมว.กลาโหม' ลั่นยึดหลักเจรจา ปม 'ว้าแดง' บอกมีอีกหลายเรื่องพูดไม่ได้

นายภูมิธรรม เวชชัย รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหม กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาพื้นที่พิพาทชายแดนไทยเมียนมา ซึ่งอยู่ในกลุ่มอิทธิพลของกลุ่มว้า ว่า มีการพูดคุยในที่ประชุมสภากลาโหม และได้เห็นเอกสารทั้งหมดโดยเฉพาะ เรื่องเขตแดน

ทอ. ส่งเครื่องบินขับไล่ เอฟ-16 สกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย ชายแดนไทย-เมียนมา

กองทัพอากาศส่งเครื่องบินขับไล่ F-16 ขึ้นบินเพื่อพิสูจน์ฝ่ายและสกัดกั้นอากาศยานไม่ทราบฝ่าย บริเวณแนวชายแดนไทย-เมียนมา จังหวัดตาก

'บิ๊กเล็ก' ยันกองทัพไม่ได้อ่อนแอ รัฐบาลสั่งก็พร้อม ลั่นรบว้าแดงไม่ยาก แต่ผลกระทบเกินเยียวยา

พลเอก ณัฐพล นาคพาณิชย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงสถานการณ์ตามแนวชายแดนไทยเมียนมา กรณีพื้นที่ที่มีการพิพาทเกิดขึ้นกับกลุ่มว้าแดงในขณะนี้ ว่า ประเด็นนี้ไม่ขอลงรายละเอียด

รัฐมนตรีกลาโหมมีไว้ทำไม! รอคำตอบ 18 ธ.ค. ขีดเส้นตาย 'ว้าแดง' ต้องพ้นแผ่นดินไทย

นายนพนันท์ อรุณวงศ์ ณ อยุธยา อาจารย์มหาวิทยาลัยจิงเม่า หรือ University of International Business and Economics (UIBE) ที่ประเทศจีน โพสต์เฟซบุ๊กว่า