ประชาชนหลายพันคนในเวียดนามกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรง เนื่องจากภัยแล้งและภาวะดินเค็ม ส่งผลให้ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์
(Photo by Nhac NGUYEN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 6 เมษายน 2567 กล่าวว่า เวียดนามกำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำจืดอย่างรุนแรงในหลายพื้นที่ อันเนื่องมาจากภัยแล้งและภาวะดินเค็ม
คลื่นความร้อนที่กินเวลานานหลายสัปดาห์ได้ก่อให้เกิดภัยแล้งและน้ำเค็มรุกล้ำเข้ามาในพื้นที่ของจังหวัดเตี่ยนยาง (Tien Giang) ซึ่งอยู่ห่างจากนครโฮจิมินห์ไปทางใต้ราว 60 กิโลเมตร โดยเฉพาะพื้นที่ในเขตเติ่นฝูตงซึ่งมีแนวชายฝั่งยาว 12 กิโลเมตรเลียบทะเลจีนใต้และมีทางน้ำตัดขวาง ได้รับผลกระทบอย่างหนักเป็นพิเศษ
การรุกล้ำของน้ำเค็มจากทะเลส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อพืชผลและหลายพันครัวเรือนในหมู่ประชาชน 43,000 คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ดังกล่าว จนเป็นเหตุให้ทางการต้องประกาศภาวะฉุกเฉินเมื่อวันเสาร์
รายงานระบุว่า หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้รับการขอให้ขนส่งน้ำจืดไปยังบ่อและอ่างเก็บน้ำในเขตดังกล่าว เพื่อรักษาแหล่งน้ำจืดให้กับประชาชน
ในช่วงฤดูร้อนนี้ ความแห้งแล้งที่ยืดเยื้อยาวนานและการรุกล้ำของน้ำเค็มในแม่น้ำ 'Tien' ตอนบน ได้สร้างปัญหาให้กับชุมชนต่างๆ เพราะขาดแคลนน้ำจืดสำหรับบริโภคและทำการเกษตร
ดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงเผชิญกับการรุกล้ำของน้ำเค็มทุกปี แต่สภาพอากาศร้อนที่รุนแรงยิ่งขึ้นและระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันได้รับแรงหนุนจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กำลังเพิ่มความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำจืดในระยะยาว
งานวิจัยที่ตีพิมพ์ในเวียดนามเมื่อเดือนที่แล้วระบุว่า พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงซึ่งเป็นแหล่งอาหารและวิถีชีวิตของผู้คนหลายสิบล้านคน ต้องเผชิญกับการสูญเสียพืชผลมูลค่าเกือบ 3,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี (ประมาณ 1 แสนล้านบาท) เนื่องจากมีน้ำเค็มไหลซึมเข้าสู่พื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
ผลการศึกษาของสถาบันวิทยาศาสตร์ทรัพยากรน้ำ สังกัดกระทรวงสิ่งแวดล้อมของเวียดนาม ระบุว่า พื้นที่ปลูกข้าวและสวนผลไม้ประมาณ 80,000 เฮกตาร์ (ประมาณ 500,000 ไร่) อาจได้รับผลกระทบจากภาวะดินเค็มในอีกไม่ช้า.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า
นักวิชาการ ตั้งข้อสังเกต 4 ข้อ สาเหตุน้ำท่วมหน้ามหาวิทยาลัยพะเยา
ผศ.ดร.ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ อาจารย์คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม โพสต์เฟซบุ๊กว่า