อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ได้รับการแต่งตั้งเป็นประธานวุฒิสภากัมพูชาเมื่อวันพุธ โดยจะเข้ารับหน้าที่สำคัญทางพิธีการ หลังส่งมอบอำนาจบริหารให้ลูกชายตั้งแต่ปีที่แล้ว
ฮุน เซน ในฐานะประธานวุฒิสภากัมพูชา กล่าวระหว่างการประชุมวุฒิสภาครั้งแรกในกรุงพนมเปญ เมื่อวันที่ 3 เมษายน (Photo by Handout / Cambodia Senate / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 3 เมษายน 2567 กล่าวว่า อดีตนายกรัฐมนตรีฮุน เซน ของกัมพูชา ได้รับการแต่งตั้งอย่างเป็นทางการในตำแหน่งประธานวุฒิสภา โดยจะทำหน้าที่สำคัญทางพิธีการของรัฐ
ฮุน เซนก้าวลงจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีเมื่อเดือนสิงหาคม 2566 หลังปกครองกัมพูชาด้วยความเด็ดขาดมาเกือบ 4 ทศวรรษ พร้อมส่งต่ออำนาจบริหารให้ฮุน มาเนต ลูกชายคนโต จากชัยชนะอย่างถล่มทลายในการเลือกตั้งระดับชาติที่จัดขึ้นโดยไม่มีพรรคฝ่ายค้านเข้าร่วม
แม้ประกาศวางมือจากการปกครอง แต่ฮุนเซนแสดงออกเสมอว่าจะยังคงอยู่ในการเมืองกัมพูชาต่อไป
เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา พรรคประชาชนกัมพูชา (ซีพีพี) เพิ่งคว้าที่นั่งได้ 55 ที่นั่ง รวมทั้งตัวฮุนเซนด้วย จากทั้งหมด 58 ที่นั่งในการเลือกตั้งวุฒิสมาชิก โดยอีก 3 ที่นั่งเป็นของพรรคเขมรวิลล์ซึ่งเป็นฝ่ายค้านกลุ่มเล็ก
อย่างไรก็ตาม จำนวนวุฒิสมาชิกในวุฒิสภามีทั้งหมด 62 คน โดย 58 คนมาจากการลงคะแนนเสียงของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร 125 คนและผู้บริหารท้องถิ่นมากกว่า 11,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสมาชิกของพรรคประชาชนกัมพูชา
ที่เหลืออีก 2 คน มาจากการแต่งตั้งของพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี และอีก 2 คน มาจากการแต่งตั้งของรัฐสภา
พรรคประชาชนกัมพูชาระบุว่า พวกเขาจะเสนอชื่อฮุนเซนเป็นประธานวุฒิสภา ซึ่งเป็นตำแหน่งสำคัญที่จะทำหน้าที่ประมุขของประเทศในยามที่กษัตริย์เสด็จต่างประเทศ
ในวันพุธ สมาชิกวุฒิสภาลงมติเป็นเอกฉันท์ให้ฮุนเซนดำรงตำแหน่งประธานวุฒิสภา หลังจากพระบาทสมเด็จพระบรมนาถนโรดม สีหมุนี ทรงเสด็จมาเปิดการประชุมครั้งแรก
ฮุน เซนกล่าวขอบคุณวุฒิสมาชิก หลังการลงคะแนนเสียงอย่างท่วมท้นซึ่งถือเป็นเกียรติสำหรับตัวเขา
"นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้นั่งบนเก้าอี้อันทรงเกียรติสูงสุดเช่นนี้" เขากล่าว และให้คำมั่นว่าเขาจะทำหน้าที่ส่งเสริมการทูตระหว่างประเทศของกัมพูชา เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำงานของฝ่ายบริหาร
นักวิเคราะห์กล่าวว่า บทบาทใหม่ของฮุนเซนจะทำให้ตัวเขาสามารถยึดครองประเทศต่อไปได้อย่างสมบูรณ์
"วุฒิสภาไม่ใช่องค์กรทางการเมืองหรือนิติบัญญัติที่ทรงอำนาจ แต่มีบทบาททางพิธีการในฐานะสัญลักษณ์ทางการเมืองที่สูงที่สุดของประเทศ" นักวิเคราะห์การเมืองชาวกัมพูชาคนหนึ่งกล่าวกับเอเอฟพี
เขากล่าวว่า เนื่องจากกษัตริย์เสด็จพระราชดำเนินนอกราชอาณาจักรบ่อยครั้ง การที่ฮุนเซนรับบทบาทประธานวุฒิสภาของจึงมีความสำคัญและเป็นสัญลักษณ์อย่างยิ่ง
ขณะนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันมีเครือญาติของฮุนเซนอยู่ไม่น้อย เช่นเดียวกับลูกๆ หลายคนของพันธมิตรของเขาก็มีตำแหน่งบริหารระดับสูงเช่นกัน
สก อายสาน โฆษกพรรคประชาชนกัมพูชา ปฏิเสธกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่ระบุว่า ครอบครัวของฮุนเซนกำลังครอบงำประเทศ และชี้ว่าความคิดแบบนั้นมาจากกลุ่มบุคคลที่เต็มไปด้วยความอิจฉา
หลังจากขึ้นสู่อำนาจในปี 2528 ฮุนเซนได้ฟื้นฟูประเทศจากสภาพพังทลายเพราะสงครามกลางเมืองและการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ ให้กลายเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจเติบโตได้
แต่นักวิจารณ์กล่าวว่า การปกครองประเทศของเขามีจุดบอดเรื่องการทำลายสิ่งแวดล้อม, การติดสินบนทั่วทุกวงการ และการกำจัดคู่แข่งทางการเมืองเกือบทั้งหมด.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นิพิฏฐ์' ชี้ข้อกังขาเจรจาแบ่งทรัพยากรฯใต้ทะเลไทย-กัมพูชา
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ นักกฎหมาย อดีตสส.จังหวัดพัทลุง โพสต์เฟซบุ๊ก"เรื่องเกาะกูด กับ MOU 44" ระบุว่า 1.อย่าหลงประเด็นว่า
เอ็ดดี้ ข้องใจปม ‘เกาะกูด’ ถาม ‘ทักษิณ’ มีข้อตกลงอะไรกับ ‘ฮุนเซน’ หรือไม่
ทักษิณ ชินวัตร ไร้น้ำยา ไม่สมราคาคุย หรือ ทักษิณ ชินวัตร มีข้อตกลงอะไรกับฮุนเซน หรือไม่ อย่างไร เป็นคำถามที่ค้างคาใจประชาชนคนไทยทั้งชาติ
ดร.เสรี จี้ยืนยันอธิปไตยให้ชัด ก่อนคุยแบ่งปันผลประโยชน์บริเวณเกาะกูด
ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการด้านการตลาดและการสื่อสารโพสต์เฟซบุ๊ก ว่าก่อนคุณจะไปคุยเรื่องการแบ่งปันผลประโยชน์ตรงบริเวณเกาะ
ตำแหน่งใหม่ 'นช.ทักษิณ' หลัง7ส.ค. เทียบชั้น 'ประธานเหมา-ฮุนเซน'
นายไพศาล พืชมงคล นักกฎหมาย และอดีตกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประวิตร วงษ์
เอาแล้ว! ยื่นศาลรธน.เลิก 'MOU44' ยุคทักษิณ หวั่นเสียเกาะกูดให้กัมพูชา
ที่ศาลรัฐธรรมนูญ นายไพบูลย์ นิติตะวัน สมาชิกพรรคพลังประชารัฐ และในฐานะนักกฏหมาย ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เลขรับที่ 251