รัสเซียวีโต้การต่ออายุคณะผู้เชี่ยวชาญของสหประชาชาติที่ติดตามการคว่ำบาตรต่อเกาหลีเหนือ หวังหยุดรายงานการถ่ายโอนอาวุธระหว่างมอสโกและเปียงยาง
แฟ้มภาพ คิมจองอึน ผู้นำเกาหลีเหนือ (Photo by KCNA VIA KNS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 29 มีนาคม 2567 กล่าวว่า รัสเซียใช้สิทธิ์ในที่ประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ทำการยับยั้งมติต่ออายุคณะผู้เชี่ยวชาญที่รับผิดชอบในการติดตามการคว่ำบาตรระหว่างประเทศต่อเกาหลีเหนือเมื่อวันพฤหัสบดี
ความเคลื่อนไหวดังกล่าวถูกวิพากษ์วิจารณ์จากหลายฝ่าย โดยเฉพาะกระทรวงต่างประเทศของเกาหลีใต้ที่ระบุว่า รัสเซียได้ทำการตัดสินใจอย่างขาดความรับผิดชอบ แม้ว่ารัสเซียจะใช้สิทธิ์ในสถานะสมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติก็ตาม
ขณะที่สหรัฐฯ มองว่าการวีโต้ของรัฐบาลมอสโกเป็นความพยายามปกป้องผลประโยชน์ส่วนตน เพื่อหยุดการสืบค้นของคณะผู้เชี่ยวชาญกรณีการสมรู้ร่วมคิดของรัสเซียกับเกาหลีเหนือ
"การกระทำของรัสเซียในวันนี้ได้บ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศอย่างน่าดูแคลน ทั้งหมดนี้เพียงเพื่อบรรลุการเจรจาต่อรองอย่างไม่สุจริตที่รัฐบาลมอสโกทำกับรัฐบาลเปียงยาง" แมทธิว มิลเลอร์ โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐกล่าว
ดมิโทร คูเลบา รัฐมนตรีต่างประเทศยูเครน เรียกการวีโต้ครั้งนี้ว่าเป็นการยอมรับข้อกล่าวหาว่ามีความผิด ท่ามกลางกระแสข่าวด้านความมั่นคงที่ว่ารัฐบาลเปียงยางกำลังช่วยเหลือรัฐบาลมอสโกในการทำสงครามกับยูเครน
อย่างไรก็ตาม การใช้สิทธิ์ยับยั้งของรัสเซียต่อคณะมนตรีความมั่นคงไม่ได้เป็นการยกเลิกการคว่ำบาตรเกาหลีเหนือ แต่เป็นเพียงการยุติการติดตามผลการดำเนินการของคณะผู้เชี่ยวชาญที่กำลังสืบหาความจริงในข้อกล่าวหามากมายที่มีต่อเกาหลีเหนือ
ทั้งนี้ อำนาจของคณะผู้เชี่ยวชาญจะสิ้นสุดลงในปลายเดือนเมษายน และจะไม่มีการต่ออายุเพราะรัสเซียใช้สิทธิ์ยับยั้งเพื่อแสดงความไม่เห็นชอบ
เกาหลีเหนืออยู่ภายใต้การคว่ำบาตรระหว่างประเทศที่มากขึ้นเรื่อยๆตั้งแต่ปี 2549 ซึ่งเป็นไปตามมติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเพื่อตอบสนองต่อโครงการอาวุธนิวเคลียร์ของรัฐบาลเปียงยาง
แต่ตั้งแต่ปี 2562 รัสเซียและจีนพยายามโน้มน้าวคณะมนตรีความมั่นคงให้ผ่อนปรนมาตรการคว่ำบาตรแบบไม่มีกำหนดต่อเกาหลีเหนือ
สภาประชาชาติคณะนี้มีการแบ่งแยกในประเด็นดังกล่าวมานานแล้ว โดยตัวแทนของจีนชื้ว่า การคว่ำบาตรมีแต่จะทำให้ความตึงเครียดรุนแรงขึ้น กลายเป็นการเผชิญหน้าด้วยผลกระทบเชิงลบร้ายแรงต่อสถานการณ์ด้านมนุษยธรรม
ในที่ประชุมเมื่อวันพฤหัสบดี จีนทำการงดออกเสียงแทนที่จะเข้าร่วมวีโต้กับรัสเซีย ขณะที่สมาชิกชาติอื่นทั้งหมดได้ลงมติเห็นชอบให้ต่ออายุคณะผู้เชี่ยวชาญ
ตัวแทนของรัสเซียให้ความเห็นว่า สหประชาชาติควรมีการพิจารณาทบทวนรายปีเพื่อประเมินหรือปรับเปลี่ยนมาตรการคว่ำบาตร และการยืนยันมติคว่ำบาตรไปเรื่อยๆโดยไม่หยิบสถานการณ์ปัจจุบันมาหารือ เป็นกระบวนการที่ไม่ยุติธรรม
"คณะผู้เชี่ยวชาญยังคงมุ่งเน้นไปที่ประเด็นเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่สอดคล้องกับปัญหาที่คาบสมุทรเกาหลีเผชิญอยู่ รัสเซียจึงขอเรียกร้องให้สภามีมติให้มีการพิจารณาทบทวนมาตรการคว่ำบาตรอย่างเปิดเผยและตรงไปตรงมา เป็นประจำทุกปี" ตัวแทนของรัสเซียกล่าวในที่ประชุม
มาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมของคณะมนตรีความมั่นคงถูกปรับระดับขั้นรุนแรงขึ้นต่อรัฐบาลเปียงยางในปี 2559 และ 2560 แต่การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือยังคงดำเนินต่อไปโดยไม่แยแส
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลเปียงยางเพิ่งทดสอบเครื่องยนต์เชื้อเพลิงแข็งสำหรับ "ขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงพิสัยกลางชนิดใหม่" และการทดสอบขีปนาวุธล่องเรือเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้เกิดการคาดเดาว่าเกาหลีเหนือกำลังส่งต่ออาวุธเหล่านี้ไปยังรัสเซียเพื่อใช้ทำสงครามกับยูเครน
ในรายงานล่าสุดซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นเดือนมีนาคม คณะกรรมการคว่ำบาตรรายงานว่า เกาหลีเหนือยังคงไม่ให้ความสำคัญต่อการถูกคว่ำบาตร และยังคงทดสอบขีปนาวุธอยู่เรื่อยๆ รวมทั้งละเมิดข้อจำกัดในการนำเข้าน้ำมัน
คณะกรรมการฯเสริมว่า กำลังตรวจสอบรายงานการขนส่งอาวุธจากเปียงยางไปยังรัสเซียเพื่อใช้ในสงครามยูเครน
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว รัสเซียใช้สิทธิ์ยับยั้งเพื่อยุติคำสั่งของคณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติเกี่ยวกับวิกฤตการณ์ในมาลี ซึ่งมีการกล่าวหากลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ที่เชื่อมโยงกับรัฐบาลมอสโก
"ตอนนี้เราได้เห็นรัสเซียใช้สิทธิ์วีโต้เพื่อยุติคณะผู้เชี่ยวชาญ 2 คณะ เนื่องจากความสัมพันธ์ทางการทหารที่กำลังขยายตัว" สหรัฐฯ, ฝรั่งเศส, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้ และอังกฤษ ระบุในแถลงการณ์ร่วม
ในแถลงการณ์ที่แยกออกมา สมาชิกคณะมนตรีความมั่นคง 10 ชาติ ซึ่งรวมถึงอังกฤษ, ฝรั่งเศส และสหรัฐอเมริกา ออกมาปกป้องผลงานของคณะกรรมการการคว่ำบาตร ระบุว่า "เมื่อเผชิญกับความพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะบ่อนทำลายสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ งานของคณะกรรมาธิการจึงมีความสำคัญมากขึ้นกว่าที่เคย และมีความจำเป็นต้องคงไว้ในระยะยาวเพื่อตอบสนองต่อสถานการณ์แต่ละช่วงเวลา".