รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนออสเตรเลีย หวังฟื้นบรรยากาศความสัมพันธ์จากความตึงเครียดเกี่ยวกับนักโทษชื่อดัง, การค้า และการแทรกแซงในฮ่องกง
นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบานีส ของออสเตรเลีย (ซ้าย) ให้การต้อนรับหวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีน ก่อนการหารือในกรุงแคนเบอร์รา เมื่อวันที่ 20 มีนาคม (Photo by David GRAY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 กล่าวว่า หวัง อี้ รัฐมนตรีต่างประเทศจีนเดินทางเยือนกรุงแคนเบอร์ราของออสเตรเลียเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2560 ถือเป็นการยุติความอึมครึมทางการทูตระหว่างมหาอำนาจ 2 รายที่ทะเลาะกันทุกเรื่อง ตั้งแต่ต้นกำเนิดของโควิด-19 ไปจนถึงการประจำการทางทหาร
จีนและออสเตรเลียมีความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดมายาวนาน แต่ความพยายามในการแก้ไขความสัมพันธ์เมื่อเร็วๆ นี้ ได้ทำลายกำแพงความขัดแย้งทางการทูต กลายเป็นจุดเริ่มต้นของความไว้วางใจซึ่งกันและกันในความสัมพันธ์อย่างช้าๆ
"การเยือนของหวัง อี้ ถือเป็นโมเมนตัมที่ดีที่ทำให้เห็นว่าเราก้าวหน้าไปได้มากเพียงใดในช่วงระยะเวลาสั้นๆ" เพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวแถลง หลังได้หารือกับหวัง อี้
ขณะที่หวัง อี้ กล่าวว่า "สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการยืนหยัดในการแสวงหาจุดยืนร่วมกันในขณะที่สงวนความแตกต่างไปด้วย"
แม้จะยกย่องเสถียรภาพที่ได้รับการปรับปรุงใหม่ระหว่างรัฐบาลปักกิ่งและแคนเบอร์รา หว่องก็ยังกล่าวเป็นนัยถึงจุดขัดแย้งที่ดำเนินอยู่หลายประการ
"เราได้หารือเกี่ยวกับการพิจารณาพิพากษาโทษของดร.หยาง จุน ซึ่งน่าตกใจมากกับโทษประหารชีวิตที่เขาได้รับ" หว่องกล่าว
หยาง จุน เป็นนักวิชาการชาวจีน-ออสเตรเลียที่ถูกพิพากษาตัดสินประหารชีวิตโดยรอลงอาญาเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากศาลปักกิ่งตัดสินว่าเขามีความผิดฐานจารกรรม ซึ่งเจ้าตัวปฏิเสธข้อกล่าวหาอย่างฉุนเฉียว
หว่องกล่าวเสริมว่า ออสเตรเลียยังกังวลเกี่ยวกับประเด็นสิทธิมนุษยชน ทั้งในซินเจียง, ทิเบต และฮ่องกง
เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา สภาบริหารของฮ่องกงเพิ่งอนุมัติกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ซึ่งมีบทลงโทษที่รุนแรงสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการทรยศและการกบฏ
สหรัฐฯ, สหภาพยุโรป, สหราชอาณาจักร และสหประชาชาติออกแถลงการณ์วิพากษ์วิจารณ์ทางการฮ่องกงเกี่ยวกับกฎหมายดังกล่าว โดยระบุว่าพวกเขากังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในเขตการปกครองพิเศษแห่งนี้
ท่ามกลางการถกเถียงกันเรื่องการค้าและความมั่นคง นักการทูตระดับสูงทั้งสองคนยังได้ใช้เวลาไตร่ตรองเรื่องแพนด้ายักษ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการทูตที่จีนมักนิยมใช้สานสัมพันธ์กับมหามิตร
หว่องกล่าวว่า หวัง หวัง และฟู่ หนี ซึ่งเป็นแพนด้า 2 ตัวที่ถูกส่งมายังออสเตรเลียตั้งแต่ปี 2552 มีแนวโน้มที่จะได้อยู่ในออสเตรเลียต่อไป
ทั้งนี้ ความสัมพันธ์ตึงเครียดของออสเตรเลียกับจีนเริ่มแตกหักในปี 2561 เมื่อออสเตรเลียแบนบริษัทโทรคมนาคมยักษ์ใหญ่อย่างหัวเว่ย ออกจากเครือข่าย 5G ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย
จากนั้นในปี 2563 ออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการสอบสวนระหว่างประเทศเกี่ยวกับต้นกำเนิดของโควิด-19 ซึ่งเป็นการกระทำที่จีนมองว่ามีแรงจูงใจทางการเมือง
เพื่อเป็นการตอบโต้ รัฐบาลปักกิ่งจึงบังคับใช้ข้อจำกัดทางการค้ากับสินค้าส่งออกส่วนใหญ่ของออสเตรเลีย ซึ่งรวมถึงข้าวบาร์เลย์, เนื้อวัว และไวน์ ขณะเดียวกันก็ระงับการนำเข้าถ่านหินจากออสเตรเลียเช่นกัน
ความขัดแย้งดังกล่าวส่วนใหญ่ค่อยๆ คลี่คลายลงเมื่อความสัมพันธ์ได้รับการแก้ไขแล้ว แม้ว่าข้อจำกัดในการส่งออกไวน์ของออสเตรเลียจะยังคงมีอยู่ก็ตาม
ก่อนที่จะมีการกำหนดข้อจำกัดทางการค้า จีนเป็นจุดหมายปลายทางที่ใหญ่ที่สุดสำหรับไวน์บรรจุขวดของออสเตรเลีย โดยคิดเป็น 33% ของรายได้ทั้งหมดจากการส่งออกในปี 2563 ตามข้อมูลของรัฐบาลออสเตรเลีย.