สภาบริหารฮ่องกงอนุมัติกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่เข้มงวดกว่าเดิม

สมาชิกสภานิติบัญญัติฮ่องกงมีมติเป็นเอกฉันท์ผ่านกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ที่กำหนดบทลงโทษ เช่น จำคุกตลอดชีวิตสำหรับอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับการกบฏ และโทษจำคุกสูงสุด 20 ปีฐานขโมยความลับของรัฐ

ภาพมุมสูงของสภานิติบัญญัติในขณะพิจารณากฎหมายความมั่นคงมาตรา 23 ในฮ่องกง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม (Photo by Peter PARKS / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 20 มีนาคม 2567 กล่าวว่า กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับใหม่ของฮ่องกงผ่านการรับรองจากสมาชิกสภานิติบัญญัติด้วยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์ พร้อมประกาศใช้ทันที ท่ามกลางเสียงวิจารณ์จากโลกตะวันตก

จอห์น ลี ผู้นำฮ่องกง กล่าวยกย่องความเคลื่อนไหวครั้งนี้ว่าเป็น "ช่วงเวลาประวัติศาสตร์ของฮ่องกง" และเสริมว่ากฎหมายดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 23 มีนาคม

ฝ่ายบริหารของเกาะแห่งนี้มีความพยายามปัดฝุ่นการบังคับใช้กฎหมายมาตรา 23 อีกครั้ง หลังถูกยกเลิกไปในปี 2546 เพราะชาวฮ่องกงกว่าครึ่งล้านออกมาเดินขบวนประท้วงตามท้องถนน

ลีกล่าวถึงความรับผิดชอบตามรัฐธรรมนูญของฮ่องกงหลายครั้ง ในการบัญญัติกฎหมายความมั่นคงให้เป็นหมวดหมู่หนึ่งในกฎหมายพื้นฐานซึ่งเป็นรัฐธรรมนูญฉบับย่อของเกาะแห่งนี้ นับตั้งแต่การส่งมอบจากอังกฤษไปยังจีนเมื่อปี 2540

กฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับฮ่องกงจะบังคับใช้ควบคู่กับกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติฉบับรัฐบาลปักกิ่งปี 2563 ที่ประกาศใช้หลังเกิดการประท้วงเพื่อประชาธิปไตยครั้งใหญ่ของชาวฮ่องกง

กฎหมายฉบับใหม่กำหนดบทลงโทษฐานความผิดหลายสิบรายการใน 5 หมวดหมู่ ได้แก่ การกบฏ, การก่อจลาจล, การขโมยความลับของรัฐและการจารกรรม, การก่อวินาศกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ และการแทรกแซงจากภายนอก

ลีกล่าวว่า ฝ่ายบริหารจำเป็นต้องอุดช่องว่างทางกฎหมายที่ยังไม่สมบูรณ์ในฉบับของรัฐบาลปักกิ่ง โดยมุ่งเป้าไปที่การยุยงส่งเสริม, การบ่อนทำลาย, การก่อการร้าย และการสมรู้ร่วมคิดกับกองกำลังต่างชาติ

"กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จะอนุญาตให้ฮ่องกงสามารถป้องกัน, ปราบปราม และลงโทษกิจกรรมจารกรรม, การสมรู้ร่วมคิดและกับดักจากหน่วยข่าวกรองต่างประเทศ, การแทรกซึมและการก่อวินาศกรรมที่ดำเนินการโดยกองกำลังต่างชาติ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ" ผู้นำฮ่องกงกล่าว และเชื่อว่าความครอบคลุมของกฏหมายฉบับใหม่จะป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ความรุนแรงแบบปี 2562

จอห์น ลี ซึ่งเป็นหนึ่งในบุคลลที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรจากการบัญชาการปราบปรามผู้ชุมนุมประท้วงในขณะที่ดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายความมั่นคง เรียกกฎหมายฉบับนี้ว่า "ตัวล็อคที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันหัวขโมย" โดยอ้างเป็นนัยยะของการต่อสู้กับ "ภัยคุกคามที่เกิดจากกองกำลังต่างชาติ"

ในส่วนของบทลงโทษที่บัญญัติไว้นั้น กรณีการก่อวินาศกรรมที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ, การทรยศ และการกบฏ มีโทษจำคุกสูงสุดตลอดชีวิต ขณะที่การจารกรรมและการก่อวินาศกรรมมีโทษจำคุกสูงสุด 20 ปี และการแทรกแซงจากภายนอกมีโทษจำคุกสูงสุด 14 ปี

นอกจากนี้ ยังขยายขอบเขตความผิดฐานยุยงปลุกปั่นในยุคอาณานิคมของอังกฤษ ให้ครอบคลุมถึงการยุยงให้เกิดความเกลียดชังต่อผู้นำพรรคคอมมิวนิสต์จีน ด้วยโทษจำคุกสูงสุด 10 ปี

เช่นเดียวกับกฎหมายฉบับก่อนหน้าปี 2563 กฎหมายฉบับใหม่นี้อ้างสิทธิ์ในเขตอำนาจศาลเหนือความผิดบางประการที่กระทำนอกฮ่องกง

แต่สำนักงานความมั่นคงแห่งชาติในฮ่องกงระบุว่า "ในทางปฎิบัติ อาจมีบุคคลจำนวนน้อยมากที่จะถูกลงโทษภายใต้มาตรา 23 เพราะมีการแก้ไขการใช้คำและความในภาษาที่ต่างออกไปจากกฎหมายความมั่นคงฉบับเดิม

จนถึงขณะนี้ มีผู้ถูกจับกุมเกือบ 300 คนภายใต้กฎหมายฉบับเดิมที่บังคับใช้อยู่ โดยแบ่งเป็นนักการเมือง, นักเคลื่อนไหว และบุคคลสาธารณะอื่นๆ หลายสิบคนที่ถูกจำคุกหรือไม่ก็ถูกบังคับให้ลี้ภัย

สำนักงานความมั่นคงฯยังระบุอีกว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่เปรียบได้ดั่งกำแพงเมืองจีนแห่งหลักนิติธรรม และเชื่อว่าชาวฮ่องกงส่วนใหญ่และนักลงทุนต่างชาติจะได้รับประโยชน์จากกำแพงนี้

ในฐานะส่วนหนึ่งของการส่งมอบฮ่องกงคืนไปยังจีนในปี 2540 เกาะแห่งนี้ได้รับการรับรองเสรีภาพบางประการ ตลอดจนความเป็นอิสระของตุลาการและนิติบัญญัติ เป็นเวลา 50 ปี ในข้อตกลงที่เรียกว่า "หนึ่งประเทศ สองระบบ"

ข้อตกลงดังกล่าวช่วยประสานสถานะของเมืองให้เป็นศูนย์กลางธุรกิจระดับโลก โดยได้รับการสนับสนุนจากระบบตุลาการที่เชื่อถือได้และเสรีภาพทางการเมืองที่แตกต่างจากจีนแผ่นดินใหญ่

หลังความเคลื่อนไหวดังกล่าวของฮ่องกง สหรัฐฯ, อังกฤษ และสหภาพยุโรปออกมาเตือนว่า กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่อาจบั่นทอนเสรีภาพในฮ่องกงเพิ่มมากกว่าเดิม

โวลเกอร์ เติร์ก หัวหน้าฝ่ายสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ประณามการเร่งรีบอนุมัติกฎหมายฉบับนี้ว่าเป็น "การก้าวถอยหลังในการปกป้องสิทธิมนุษยชน"

เดวิด คาเมรอน รัฐมนตรีต่างประเทศอังกฤษกล่าวว่ากฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่จะทำลายสิทธิและเสรีภาพที่เคยมีในฮ่องกง และอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อหลักนิติธรรมและความเป็นอิสระขององค์กรต่างๆ

เวดันท์ ปาเตล โฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐ กล่าวว่า สหรัฐฯ ตื่นตระหนกกับการกวาดล้างเสรีภาพครั้งใหญ่นี้ ด้วยบทบัญญัติทางกฎหมายที่มีการกำหนดไว้อย่างคลุมเครือ

ขณะที่องค์กรแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวถึงฝ่ายบริหารของเกาะฮ่องกงว่า การอนุมัติกฎหมายฉบับนี้เป็นการส่งข้อความที่ชัดเจนที่สุดว่าทางการฮ่องกงพร้อมประเคนความสะดวกแก่จีนแผ่นดินใหญ่ และละเลยคำมั่นสัญญาด้านสิทธิมนุษยชนที่เคยระบุไว้ในอดีต.

เพิ่มเพื่อน