สหรัฐฯ ยึดคำมั่นสัญญาปกป้องฟิลิปปินส์ แต่จีนชี้ว่าไม่มีสิทธิ์แทรกแซงภูมิภาค

รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เยือนฟิลิปปินส์ ย้ำคำสัญญาจะปกป้องดินแดนพันธมิตรจากการถูกรุกรานในทะเลจีนใต้ ขณะที่จีนชี้ว่ารัฐบาลวอชิงตันไม่มีสิทธิ์แทรกแซงในภูมิภาคนี้

ชาวฟิลิปปินส์รวมตัวเดินขบวนประท้วงบนถนน เพื่อต่อต้านการมาเยือนของรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ พร้อมชูป้ายข้อความขับไล่กองทัพสหรัฐออกจากประเทศ ในกรุงมะนิลาเมื่อวันที่ 19 มีนาคม (Photo by JAM STA ROSA / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 19 มีนาคม 2567 กล่าวว่า แอนโทนี บลิงเคน รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐฯ เดินทางเยือนกรุงมะนิลาของฟิลิปปินส์ ถือเป็นครั้งที่สองในยุคสมัยของประธานาธิบดีเฟอร์ดินันด์ มาร์กอส จูเนียร์ ตั้งแต่เข้ารับตำแหน่งในปี 2565 และเป็นส่วนหนึ่งของการเยือนเอเชียช่วงสั้น ๆ เพื่อแสดงความสนับสนุนของสหรัฐฯ ที่มีต่อพันธมิตรระดับภูมิภาคซึ่งมีความขัดแย้งกับจีน

ในการเยือนครั้งนี้ บลิงเคนได้เน้นย้ำคำมั่นสัญญาด้านกลาโหมที่จะปกป้องดินแดนพันธมิตรจากการถูกรุกรานในทะเลจีนใต้ หลังเกิดกรณีฟิลิปปินส์กระทบกระทั่งกับจีนบริเวณสันดอนพิพาทบ่อยครั้งในระยะหลัง

"เส้นทางน้ำเหล่านี้มีความสำคัญต่อความมั่นคงและเศรษฐกิจของฟิลิปปินส์ เช่นเดียวกับผลประโยชน์ของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้, สหรัฐอเมริกา และทั้งโลก" บลิงเคนกล่าวในการแถลงข่าวร่วมกับเอ็นริเก มานาโล รัฐมนตรีต่างประเทศฟิลิปปินส์

"นั่นคือเหตุผลที่เรายืนหยัดร่วมกับฟิลิปปินส์ ตามพันธกรณีด้านกลาโหมที่แข็งแกร่งระดับทวิภาคี" บลิงเคนกล่าวเสริม

ขณะที่มานาโลได้เน้นย้ำกับบลิงเคนให้สหรัฐเห็นความสำคัญของการลงทุนเพื่อเพิ่มขีดความสามารถด้านกลาโหมและการบังคับใช้กฎหมายพลเรือน

หลังจากคำแถลงของบลิงเคนถูกเผยแพร่ จีนกล่าวโต้ว่าสหรัฐไม่มีสิทธิ์ที่จะแทรกแซงในทะเลจีนใต้

"สหรัฐฯ ไม่ใช่ภาคีในทะเลจีนใต้ และไม่มีสิทธิ์แทรกแซงประเด็นทางทะเลระหว่างจีนและฟิลิปปินส์" หลิน จี้อัน โฆษกกระทรวงต่างประเทศจีน กล่าวในการแถลงข่าวประจำวัน

"ความร่วมมือทางทหารระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์จะต้องไม่เป็นอันตรายต่ออธิปไตยของจีน รวมทั้งสิทธิทางทะเล และผลประโยชน์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนจะยังคงใช้มาตรการที่จำเป็นต่อไปเพื่อปกป้องอธิปไตยในอาณาเขต, สิทธิทางทะเล และผลประโยชน์ของประเทศ เช่นเดียวกับการรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในทะเลจีนใต้" หลินกล่าวเสริม

การเยือนของบลิงเคนเกิดขึ้นก่อนการประชุมไตรภาคีในกรุงวอชิงตันในเดือนหน้า ซึ่งจะมีการหารือร่วมกันระหว่างผู้นำสหรัฐฯ, ฟิลิปปินส์ และญี่ปุ่น ในวาระหลักของการเสริมสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันอย่างเสรีและเปิดกว้างในอินโดแปซิฟิก

คาดว่าบลิงเคนจะได้เข้าพบผู้นำฟิลิปปินส์และยืนยันเจตนารมณ์ในคำมั่นสัญญาระหว่างพันธมิตรต่อหน้าประธานาธิบดีมาร์กอสอีกครั้ง

ทั้งนี้ รัฐบาลวอชิงตันเคยกล่าวอ้างหลายครั้งว่า การโจมตีด้วยอาวุธต่อเรือสาธารณะ, เครื่องบิน, กองทัพ และหน่วยยามฝั่งของฟิลิปปินส์ มีความเกี่ยวพันกับสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ และฟิลิปปินส์ที่ลงนามไว้ตั้งแต่ปี 2494 ซึ่งระบุว่าสหรัฐฯจำเป็นต้องปกป้องพันธมิตรของตน

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลปักกิ่งกล่าวหารัฐบาลวอชิงตันว่าใช้ฟิลิปปินส์เป็น "เบี้ย" ในข้อพิพาททะเลจีนใต้และแนวปะการังต่างๆ

จีนอ้างสิทธิ์เหนือทะเลจีนใต้เกือบทั้งหมดว่าเป็นอาณาเขตของตน และไม่แยแสการอ้างสิทธิ์แบบเดียวกันจากประเทศต่างๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จากนั้นจึงส่งเรือมาเพื่อลาดตระเวนในน่านน้ำที่กล่าวอ้างความเป็นเจ้าของ และได้สร้างเกาะเทียมเพื่อภารกิจทางการทหารในการปกป้องสิทธิ์ของตน

ย้อนไปในสมัยของประธานาธิบดีโรดริโก ดูเตอร์เต ความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯและฟิลิปปินส์ย่ำแย่มาก เพราะรัฐบาลมะนิลาในขณะนั้นหันไปจับมือกับจีน

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่มาร์กอสขึ้นสู่อำนาจ เขาพยายามกระชับความร่วมมือกับสหรัฐฯ และประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็ยืนหยัดต่อสู้กับการรุกรานของจีนต่อเรือของฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้.

เพิ่มเพื่อน