ลาวาปะทุออกมาจากรอยแยกของภูเขาไฟบนคาบสมุทรเรคยาเนสในไอซ์แลนด์อีกครั้ง ถือเป็นการปะทุครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวนับตั้งแต่เดือนธันวาคมปีที่แล้ว
ท้องฟ้าเป็นสีส้ม ขณะที่ลาวาหลอมเหลวไหลออกมาจากรอยแยกทางตอนเหนือของเมืองกรินดาวิก บนคาบสมุทรเรคยาเนสทางตะวันตกของไอซ์แลนด์ เมื่อวันที่ 16 มีนาคม (Photo by Halldor KOLBEINS / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 17 มีนาคม 2567 กล่าวว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาไอซ์แลนด์ (IMO) ระบุในแถลงการณ์ว่า "เกิดการปะทุของภูเขาไฟระหว่างเทือกเขาสโตรา สโคกเฟลและฮากาเฟลล์ (Stora Skogfell and Hagafell) บนคาบสมุทรเรคยาเนส (Reykjanes) ทางตะวันตกเฉียงใต้ พร้อมเผยแพร่ภาพลาวาสีส้มสดและควันพวยพุ่งเป็นลูกคลื่น โดยการปะทุครั้งนี้ถือเป็นการปะทุครั้งที่ 4 ที่เกิดขึ้นในพื้นที่ดังกล่าวในรอบ 4 เดือน
กรมคุ้มครองพลเรือนและการจัดการเหตุฉุกเฉินของไอซ์แลนด์ประกาศว่าได้ส่งเฮลิคอปเตอร์เพื่อสำรวจพิกัดที่แน่นอนของรอยแยกที่เกิดใหม่ครั้งนี้
มีรายงานว่า เกิดแผ่นดินไหวก่อนการปะทุลาวา ซึ่งบ่งชี้ว่ามีโอกาสที่การปะทุจะเกิดขึ้นอีก
สื่อท้องถิ่นรายงานว่าการอพยพออกจากเมืองประมงกรินดาวิกได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว โดยประชาชนได้รับข้อความแจ้งให้รีบออกจากพื้นที่ทันที
ทั้งนี้ ชาวเมืองกรินดาวิกประมาณ 4,000 คนเพิ่งได้รับการอนุญาตให้กลับเข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ หลังจากอพยพออกไปตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเพื่อเป็นการป้องกันไว้ก่อน แต่ภายหลังการปะทุเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พวกเขาก็ได้รับอนุญาตให้กลับมายังถิ่นฐานได้ช่วงสั้นๆ ก่อนได้รับอนุญาตให้กลับบ้านได้ตามปกติ แต่มีเพียงไม่กี่ครอบครัวเท่านั้นที่เลือกจะกลับเข้าไปในพื้นที่เสี่ยง
เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน กรินดาวิกต้องอพยพผู้คนหลังจากเกิดแผ่นดินไหวหลายร้อยครั้งสร้างความเสียหายแก่อาคารต่างๆ รวมทั้งภูเขาไฟปะทุจนเกิดรอยแตกร้าวขนาดใหญ่บนถนน
หลังจากนั้นมีการปะทุเกิดขึ้นในพื้นที่เดียวกันอีกสองครั้ง เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม และวันที่ 14 มกราคม
รอยแยกสองแห่งเกิดขึ้นระหว่างการปะทุครั้งที่สอง ซึ่งทำให้เกิดลาวาสีส้มไหลออกมาตามถนนและทำให้บ้านเรือนกลายเป็นเถ้าถ่าน และรอยแยกเปิดออกอีกครั้งในเดือนมกราคม ส่งผลให้ลาวาไหลลงสู่ถนน และทำให้บ้านเรือน 3 หลังกลายเป็นเถ้าถ่าน
ไอซ์แลนด์เป็นที่ตั้งของกลุ่มภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่ 33 แห่ง ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงที่สุดในยุโรป และก่อนเดือนมีนาคม 2564 คาบสมุทรเรคยาเนสไม่มีการปะทุของภูเขาไฟเลยเป็นเวลานานกว่า 800 ปี และการกลับมาปะทุใหม่หลายครั้งในระยะหลัง ทำให้นักภูเขาไฟวิทยาเชื่อว่า นี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคใหม่ในภูมิภาคนี้.