ญี่ปุ่นระงับการปล่อยน้ำที่ผ่านการบำบัดแล้วจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ลงสู่ทะเล หลังเกิดแผ่นดินไหวในฟุกุชิมะ
น้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยระบบการประมวลผลของเหลวขั้นสูง (ALPS) ไหลจากถังเก็บน้ำต้นน้ำไปยังถังเก็บน้ำปลายน้ำที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ในเมืองโอคุมะ จังหวัดฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น (Photo by Handout / TOKYO ELECTRIC POWER COMPANY (TEPCO) / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 15 มีนาคม 2567 กล่าวว่า สำนักงานอุตุนิยมวิทยาของญี่ปุ่นรายงานการเกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.8 แม็กนิจูด เมื่อเวลา 00.14 น. ของคืนวันศุกร์ นอกชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของภูมิภาคฟุกุชิมะ ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ที่ถูกทำลายโดยสึนามิเมื่อปี 2554
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้บริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์ (เทปโก-TEPCO) ซึ่งเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าแห่งนี้ ออกแถลงการณ์ว่า "แม้ได้รับการยืนยันแล้วว่าโรงไฟฟ้าไม่ได้รับผลกระทบใดๆจากเหตุแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นล่าสุดนี้ ผลตรวจสอบเบื้องต้นก็ไม่พบความผิดปกติในโรงงานเจือจางและระบายน้ำที่ผ่านการบำบัดด้วยกระบวนการ ALPS"
"แต่เพื่อความปลอดภัย เราได้ระงับการดำเนินงานของสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ตามขั้นตอนการปฏิบัติงานที่กำหนดไว้ล่วงหน้า" แถลงการณ์ระบุในช่วงเช้าตรู่ของวันศุกร์
หลายชั่วโมงต่อมา บริษัทฯออกแถลงการณ์เพิ่มเติมว่า "ตรวจไม่พบความผิดปกติของการรั่วไหลรังสี"
หน่วยงานกำกับดูแลนิวเคลียร์ของญี่ปุ่นออกมาระบุหลังเกิดแผ่นดินไหวว่า ไม่พบความผิดปกติใดๆ ที่โรงไฟฟ้าฟุกุชิมะ ไดอิจิ และฟุกุชิมะ ไดนิ ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้านิวเคลียร์อีกแห่งของบริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์
เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่แล้ว บริษัทโตเกียว อิเลคทริค พาวเวอร์เริ่มปล่อยน้ำบำบัดจากโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟุกุชิมะ ไดอิจิ ลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิกนับตั้งแต่เกิดสึนามิถล่มในปี 2554 ซึ่งเป็นหนึ่งในภัยพิบัติทางนิวเคลียร์ที่เลวร้ายที่สุดของโลก
ปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการตรวจสอบและประเมินความปลอดภัยจากสำนักงานพลังงานปรมาณูระหว่างประเทศ และบริษัทฯกล่าวว่า สามารถกำจัดนิวไคลด์กัมมันตรังสีได้เกือบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นไอโซโทปซึ่งมักตกค้างอยู่ในน้ำเสียที่โรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลกปล่อยลงสู่ทะเล แต่ก็อยู่ในระดับปลอดภัยเช่นเดียวกัน
แต่จีนและรัสเซียวิพากษ์วิจารณ์การกระทำดังกล่าวในมหาสมุทรแปซิฟิกซึ่งเป็นทรัพยากรส่วนรวม ตามมาด้วยการสั่งห้ามนำเข้าอาหารทะเลจากญี่ปุ่น พร้อมโทษว่าการกระทำของญี่ปุ่นก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
ญี่ปุ่นประสบแผ่นดินไหวหลายร้อยครั้งในทุกปี แต่ไม่ค่อยสร้างความเสียหายรุนแรง รวมทั้งครั้งล่าสุดนี้ที่ไม่มีรายงานการบาดเจ็บของผู้คน และไม่มีการประกาศเตือนภัยสึนามิ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
นายกฯ ห่วงคนไทยในญี่ปุ่น ขอให้ติดตามประกาศแจ้งเตือนแผ่นดินไหวอย่างต่อเนื่อง
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี เตือนชาวไทยที่อยู่ในพื้นที่ประเทศญี่ปุ่นให้ติดตามสถานการณ์ต่อกรณีที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 5.3 ริกเตอร์ ที่กรุงโตเกียวและพื้นที่โดยรอบ
ในหลวงมีพระราชสาส์นเสียพระราชหฤทัยเหตุแผ่นดินไหวญี่ปุ่น
5 ม.ค.2567 - พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ส่งข้อความพระราชสาส์นแสดงความเสียพระราชหฤทัยไปยังสมเด็จพระจักรพรรดิแห่งญี่ปุ่น กรณีเกิดเหตุแผ่นดินไหว ที่จังหวัดอิชิกาวะ ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2567