เกาหลีใต้เริ่มกระบวนการระงับใบอนุญาตของแพทย์ฝึกหัด 4,900 คนที่ลาออกและหยุดงานเพื่อประท้วงแผนปฏิรูปของรัฐบาล
แพทย์เกาหลีใต้ถือป้ายที่มีข้อความประท้วง ระหว่างการชุมนุมต่อต้านแผนปฎิรูปของรัฐบาล (Photo by Jung Yeon-je / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 11 มีนาคม 2567 กล่าวว่า การหยุดงานประท้วงของแพทย์ฝึกหัดในเกาหลีใต้ผ่านมา 20 กว่าวันแล้ว โดยมีรายงานตัวเลขแพทย์กว่า 12,000 คน หรือ 93% หายไปจากระบบรักษาพยาบาลแห่งชาติจนถึงปัจจุบัน แม้รัฐบาลจะออกคำสั่งให้กลับไปทำงานและขู่ดำเนินคดีก็ตาม
ล่าสุด กระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่า ได้ส่งเรื่องระงับใบอนุญาตทางการแพทย์ไปยังแพทย์ฝึกหัดหลายพันคน หลังจากที่พวกเขาฝ่าฝืนคำสั่งรัฐบาลที่ต้องการให้พวกเขากลับไปทำงานที่โรงพยาบาลตามปกติ
"การแจ้งเตือนได้ถูกส่งไปยังแพทย์ฝึกหัดมากกว่า 4,900 คนแล้วตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม" ชุน บยอง-วัง ผู้อำนวยการฝ่ายนโยบายด้านสุขภาพและการแพทย์ของกระทรวงสาธารณสุข กล่าวกับผู้สื่อข่าว
"รัฐบาลจะคำนึงถึงสถานการณ์และปกป้องแพทย์ฝึกหัด หากพวกเขากลับไปทำงานก่อนที่มาตรการระงับในอนุญาตจะเสร็จสิ้น" เขากล่าว โดยระบุว่าแพทย์ที่กลับมาทำงานในขณะนี้สามารถหลีกเลี่ยงการลงโทษได้
“รัฐบาลจะไม่ละทิ้งการเจรจา ขอให้รู้ไว้ว่าประตูสำหรับการเจรจาเปิดอยู่เสมอ และรัฐบาลจะเคารพและรับฟังความคิดเห็นของวงการแพทย์ในฐานะสหายของการปฏิรูปการแพทย์" เขากล่าวทิ้งท้าย
ก่อนหน้านี้ รัฐบาลเคยเตือนแพทย์ที่นัดหยุดงานว่าพวกเขาอาจถูกระงับใบอนุญาตเป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งการลงโทษดังกล่าวจะทำให้ความสามารถในการมีคุณสมบัติเป็นผู้เชี่ยวชาญล่าช้าออกไปอย่างน้อย 1 ปี
เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว รัฐบาลได้ประกาศมาตรการใหม่เพื่อปรับปรุงค่าจ้างและเงื่อนไขสำหรับแพทย์ฝึกหัด รวมถึงการทบทวนระยะเวลาการทำงานต่อเนื่อง 36 ชั่วโมง ซึ่งเป็นปัญหาใหญ่สำหรับแพทย์รุ่นใหม่
การนัดหยุดงานต่อเนื่องของบรรดาแพทย์ส่งผลให้มีการยกเลิกการผ่าตัด, การรอคอยการรักษาที่ยาวนานของผู้ป่วย และกระบวนการรักษาที่ล่าช้าในโรงพยาบาลใหญ่ๆ จนรัฐบาลต้องเบิกงบฉุกเฉินหลายล้านดอลลาร์เพื่อคลี่คลายสถานการณ์ และระดมหน่วยแพทย์ทหารให้มาทำงานในโรงพยาบาลพลเรือนตั้งแต่วันพุธนี้
การปฏิรูปของรัฐบาลมุ่งเพิ่มจำนวนนักเรียนแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 65% หรือ 2,000 คนต่อปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เพื่อให้หลุดพ้นจากการมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
สมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี (KMA) ซึ่งเป็นแกนนำของการประท้วง อ้างว่าการปฏิรูปทางการแพทย์ของรัฐบาลจะกัดกร่อนคุณภาพการให้บริการ จึงสนับสนุนการหยุดงานของแพทย์เพื่อให้รัฐบาลยกเลิกนโยบายดังกล่าว นอกจากนี้แพทย์ส่วนใหญ่ยังกังวลด้วยว่า การปฏิรูปอาจส่งผลด้านลบต่อรายได้และสถานะทางสังคมของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม นโยบายปฎิรูปของรัฐบาลได้รับเสียงตอบรับที่ดีในหมู่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการรอคิวยาวที่โรงพยาบาล โดยผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 75% เห็นชอบนโยบายดังกล่าว แต่การสำรวจครั้งใหม่โดยสื่อท้องถิ่น พบว่าประชาชนราว 34% เชื่อว่าทั้งสองฝ่ายควรเริ่มเจรจาหาทางออกอย่างเหมาะสม.