ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และออสเตรเลียเรียกร้องให้มีการหยุดยิงทันทีและถาวรในฉนวนกาซา พร้อมกล่าวถึงสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในดินแดนปาเลสไตน์ว่าเข้าขั้นเลวร้าย
ผู้นำของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้พร้อมที่ปรึกษาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดสมัยพิเศษที่ทำเนียบรัฐบาลในนครเมลเบิร์น เมื่อวันที่ 6 มีนาคม (Photo by Andrew Taylor / ASEAN-Australia Special Summit 2024 / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพุธที่ 6 มีนาคม 2567 กล่าวว่า เวทีประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลียแสดงจุดยืนเรียกร้องให้หยุดการสู้รบอย่างถาวรในฉนวนกาซา และให้หันมาใช้วิธีเจรจาเพื่อสงบศึก พร้อมแสดงความกังวลกับสถานการณ์ด้านมนุษยธรรมในดินแดนปาเลสไตน์ที่กำลังเข้าขั้นเลวร้าย
"เราขอเรียกร้องให้มีการหยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมโดยทันทีและถาวร" ผู้นำของ 11 ประเทศ รวมถึงอินโดนีเซียและมาเลเซียที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม กล่าวหลังจากหารือมาหลายวันในประเด็นละเอียดอ่อนของสงคราม
สถานการณ์ที่ย่ำแย่ลงในฉนวนกาซาเป็นหัวข้อถกเถียงกันอย่างดุเดือด เมื่อผู้นำจากกลุ่มอาเซียน 10 ชาติมารวมตัวกันที่เมลเบิร์นเพื่อร่วมการประชุมสุดยอดสามวันกับเจ้าภาพออสเตรเลีย
เดือนรอมฎอนอันศักดิ์สิทธิ์ของชาวมุสลิมกำลังใกล้เข้ามาแล้ว สหรัฐฯ และประเทศต่างๆ จึงเพิ่มความพยายามในการบรรลุข้อตกลงให้ได้เร็วที่สุด
"เราขอประณามการโจมตีพลเรือนและโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือนทั้งหมด ซึ่งนำไปสู่วิกฤตด้านมนุษยธรรมในฉนวนกาซาที่เลวร้ายลงเรื่อยๆ รวมถึงการจำกัดการเข้าถึงอาหาร, น้ำ และความต้องการขั้นพื้นฐานอื่นๆ" อาเซียนและออสเตรเลียกล่าว และเสริมว่า "เราขอเรียกร้องความรวดเร็ว, ปลอดภัย,ไม่มีอุปสรรค และยั่งยืน ในการเข้าถึงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือ รวมถึงการยกระดับขีดความสามารถที่จุดผ่านแดนทั้งทางบกและทางทะเล”
ที่ประชุมยังสนับสนุนหน่วยงานผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ของสหประชาชาติ แม้ว่าออสเตรเลียจะระงับการให้ทุนของหน่วยงานนี้ชั่วคราว เนื่องจากพบข้อสงสัยว่าเจ้าหน้าที่บางคนเป็นสมาชิกของกลุ่มติดอาวุธอิสลามิสต์
มีรายงานว่า สิงคโปร์ไม่พอใจกับข้อเสนอแนะที่กล่าวประณาม "การใช้ความอดอยาก" ในฉนวนกาซา ซึ่งเป็นถ้อยความที่อาจทำให้อิสราเอลโกรธเคือง
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นที่อยู่อาศัยของประชากรมุสลิมประมาณ40% ของโลก และอินโดนีเซียกับมาเลเซียก็เป็นผู้สนับสนุนอย่างแข็งขันต่อประเด็นปาเลสไตน์
แต่ยังมีประเทศในกลุ่มอาเซียนที่คิดเห็นตรงข้าม เช่น สิงคโปร์ที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับอิสราเอล และไม่กระตือรือร้นที่จะสร้างประเด็นให้เกิดความขัดแย้งกับพันธมิตรของตน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝนและความหนาวเย็นทำให้สถานการณ์ของผู้พลัดถิ่นและตัวประกันในฉนวนกาซารุนแรงขึ้น
ชาวปาเลสไตน์ประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์ในฉนวนกาซาต้องพลัดถิ่นตั้งแต่เริ่มสงคราม ขณะนี้พวกเขากำลังเผชิญกับภาว