รัสเซียแฉเนื้อหาการสนทนาที่รั่วไหลออกมาขณะที่เจ้าหน้าที่เยอรมันปรึกษาหารือเกี่ยวกับการโจมตีไครเมีย เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าประเทศตะวันตกมีส่วนร่วมต่อความขัดแย้งในยูเครน
บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนี แถลงข่าวที่กระทรวงกลาโหมในกรุงเบอร์ลิน เมื่อวันที่ 3 มีนาคม หลังมีการรั่วไหลของบทสนทนาลับเรื่องสงครามในยูเครน (Photo by Tobias SCHWARZ / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 5 มีนาคม 2567 กล่าวว่า รัสเซียเผยแพร่บันทึกการสนทนาความยาว 38 นาทีของเจ้าหน้าที่เยอรมันที่กำลังหารือเรื่องการโจมตีไครเมีย ทางโซเชียลมีเดียของประเทศเมื่อวันศุกร์ และฟ้องต่อโลกว่าชาติตะวันตกแอบมีส่วนร่วมกับการสู้รบในยูเครน
ทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เนื้อหาการสนทนาที่รั่วไหลออกมาในครั้งนี้ได้พิสูจน์ให้เห็นว่ามีการแทรกแซงในสถานการณ์สงครามระหว่างยูเครนและรัสเซียเกิดขึ้น โดยชาติตะวันตก
การรั่วไหลดังกล่าวได้สร้างความอับอายให้กับเยอรมนีซึ่งอยู่ภายใต้แรงกดดันในการจัดหาขีปนาวุธทอรัสให้กับยูเครนที่ขาดแคลนกระสุนอย่างหนัก
บทสนทนาดังกล่าวมีเนื้อหาที่เจ้าหน้าที่เยอรมันกำลังหารือเกี่ยวกับความเป็นไปได้ในการใช้งานขีปนาวุธทอรัสในยูเครน รวมทั้งผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น
นอกจากนี้ยังมีการพูดคุยเรื่องการเล็งขีปนาวุธไปยังเป้าหมายต่างๆ เช่น สะพานสำคัญเหนือช่องแคบเคิร์ชที่เชื่อมแผ่นดินใหญ่ของรัสเซียกับแหลมไครเมียซึ่งถูกผนวกดินแดนในปี 2557
เยอรมนีออกมายอมรับ พร้อมระบุว่า การสนทนาดังกล่าวอาจถูกดักฟังและบันทึกในกองการบินของกองทัพอากาศ แต่ไม่สามารถบอกได้ว่ามีการตัดต่อหรือไม่
ดมิทรี เปสคอฟ โฆษกประจำทำเนียบประธานาธิบดีรัสเซียกล่าวว่า บทสนทนาเหล่านั้นสื่อด้วยตัวของมันเองถึงการที่กองทัพเยอรมันกำลังหารือกันอย่างเป็นรูปธรรมและมีแผนการที่จะโจมตีดินแดนรัสเซีย
ขณะที่กระทรวงต่างประเทศรัสเซียได้ขอคำชี้แจงจากอเล็กซานเดอร์ กราฟ แลมบ์สดอร์ฟ เอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำกรุงมอสโก ที่มาเข้าร่วมการประชุมระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่สำนักงานกระทรวงฯพอดี แต่ทูตเยอรมนีเดินออกจากอาคารกระทรวงโดยไม่แสดงความคิดเห็นใดๆ
เยอรมนีกล่าวหาว่าประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน ของรัสเซียพยายามยุยงให้เกิดความแตกแยก จากการดักฟังและเผยแพร่บทสนทนาเหล่านั้น
"มันเป็นเรื่องเกี่ยวกับการใช้บันทึกนี้เพื่อทำให้พวกเราสั่นคลอน และเป็นส่วนหนึ่งของสงครามข้อมูลที่ปูตินกำลังดำเนินการอยู่" บอริส พิสโตริอุส รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนีกล่าว พร้อมมั่นใจว่าปูตินจะไม่ประสบความสำเร็จจากการกระทำเช่นนี้
พิสโตริอุสกล่าวว่า เขาไม่แน่ใจว่ามีการสนทนาใดๆถูกดักฟังอีกหรือไม่ และจะรอผลการสอบสวนของทหารในครั้งนี้ก่อนที่จะสรุปผล
ทั้งนี้ รัฐบาลเคียฟเรียกร้องมานานแล้วว่าต้องการให้เยอรมนีจัดส่งขีปนาวุธอากาศสู่พื้น 'ทอรัส (Taurus)' ให้กับพวกตน โดยอาวุธชนิดนี้สามารถเข้าถึงเป้าหมายได้ไกล 500 กิโลเมตร และทอรัสจะช่วยส่งเสริมยูเครนได้เป็นอย่างดีในการป้องกันการรุกล้ำที่เข้มแข็งของรัสเซียในแนวหน้า
แต่นายกรัฐมนตรีโอลาฟ ชอลซ์ ของเยอรมนี ปฏิเสธที่จะส่งมอบขีปนาวุธดังกล่าวมาตลอด เนื่องจากกลัวว่ามันจะนำไปสู่ความขัดแย้งกับรัสเซียที่มีอาวุธนิวเคลียร์ในครอบครองจำนวนมาก
จากการที่รัสเซียโจมตียูเครนเข้าสู่ปีที่สาม รัฐบาลเคียฟได้เพิ่มการร้องขอการสนับสนุนทางทหารจากพันธมิตรมากขึ้น และตอนนี้กำลังประสบปัญหาขาดแคลนกระสุนอย่างหนัก
สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่น ๆ ที่จัดหาอาวุธให้ยูเครนจนถึงตอนนี้ ต่างระมัดระวังในการส่งเสริมคลังอาวุธให้รัฐบาลเคียฟ โดยไม่เน้นให้มีการสู้รบเต็มรูปแบบ เพราะไม่ต้องการให้บานปลายจนรัสเซียต้องนำอาวุธนิวเคลียร์ออกมาใช้ และอาจทำให้ความขัดแย้งขยายวงกว้างออกไป
ก่อนหน้านี้ เยอรมนีถูกมองว่าไม่ฝักใฝ่ฝ่ายใดในการจัดหาอาวุธ แต่ท้ายที่สุดก็กลายเป็นผู้ให้ความช่วยเหลือทางทหารรายใหญ่อันดับสองแก่ยูเครน รองจากสหรัฐฯ
มีรายงานว่าฝรั่งเศสและอังกฤษได้จัดหาขีปนาวุธพิสัยไกล SCALP หรือ Storm Shadow ให้กับยูเครน ซึ่งขีปนาวุธชนิดนี้มีระยะยิงได้ไกลประมาณ 250 กิโลเมตร
แต่ผู้นำเยอรมันยอมรับว่าไม่สามารถทำแบบสองชาติดังกล่าวได้ ทั้งการส่งขีปนาวุธพิสัยไกลไปยังยูเครนและสนับสนุนการติดตั้งระบบอาวุธ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นาโต' เตือนเกาหลีเหนือ กรณีส่งกองทหารช่วยเหลือรัสเซีย
ยูเครนและเกาหลีใต้รายงานว่า มีทหารเกาหลีเหนือมากถึง 12,000 นายเข้าร่วมสงครามช่วยเหลือประธานาธิบดีปูติน จนถึง
'โดนัลด์ ทรัมป์' อาจเคยแอบส่งชุดตรวจไวรัสโคโรนาให้กับ 'วลาดิมีร์ ปูติน'
หนังสือเล่มใหม่เผยให้เห็นการติดต่อระหว่างโดนัลด์ ทรัมป์กับเครมลิน ดังนั้นเขาอาจยังรักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับวลา
'โอลาฟ ชอลซ์' เสนอตัวเป็นนายกรัฐมนตรีของ 'คนธรรมดา'
สงครามยูเครน การอภิปรายปัญหาผู้ลี้ภัย การปกป้องสภาพภูมิอากาศ ฯลฯ เมื่อคำนึงถึงประเด็นที่เป็นข้อขัดแย้งมากมายในสั