ผู้นำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมตัวกันเพื่อหารือในออสเตรเลีย โดยมีประเด็นหลักเรื่องความร่วมมือด้านพลังงานสะอาดและจุดยืนเชิงรุกของรัฐบาลปักกิ่งในทะเลจีนใต้
ตำรวจและหน่วยรักษาความปลอดภัยยืนอยู่นอกสถานที่จัดการประชุมสุดยอดอาเซียน-ออสเตรเลีย ที่เมืองเมลเบิร์น เมื่อวันที่ 4 มีนาคม (Photo by Martin KEEP / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 4 มีนาคม 2567 กล่าวว่า บรรดาผู้นำจาก 10 ชาติสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) เดินทางสู่เมืองเมลเบิร์น เพื่อร่วมการประชุมสุดยอดพิเศษกับเจ้าภาพออสเตรเลีย
การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะเป็นประเด็นสำคัญในวาระการประชุมดังกล่าว โดยเฉพาะกับชาติอาเซียนทั้งหลายที่เผาผลาญพลังงานมหาศาลจากเชื้อเพลิงฟอสซิล ขณะที่ออสเตรเลียก็ยังคงเป็นหนึ่งในผู้ส่งออกก๊าซและถ่านหินรายใหญ่ที่สุดของโลก
ทั้งอาเซียนและออสเตรเลียเริ่มตระหนักในการหันมาปรับใช้พลังงานสะอาดที่หมุนเวียนจากธรรมชาติมากขึ้น เช่น พลังงานสะสมในหินแร่, พลังงานแสงอาทิตย์ และพลังงานลม
นักวิเคราะห์กล่าวว่า หลายประเทศในอาเซียนต้องการพลังงานมากขึ้นในการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป และออสเตรเลียอาจเป็นคำตอบของแหล่งพลังงานนั้น
อินโดนีเซียและฟิลิปปินส์เป็นผู้ผลิต'นิกเกิล'รายใหญ่ที่สุดสองรายของโลก ซึ่งเป็นส่วนประกอบสำคัญในการผลิตแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ขณะที่โลหะแบตเตอรี่หลักอีกชนิดหนึ่งคือ'ลิเธียม'พบได้ทั่วออสเตรเลียในปริมาณมหาศาล
รัฐบาลจาการ์ตาและแคนเบอร์ราได้เริ่มสำรวจแล้วว่า พวกเขาจะสามารถประสานทรัพยากรเหล่านี้เพื่อส่งเสริมการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าได้อย่างไร
เป็นเวลาหลายปีมาแล้วที่ออสเตรเลียเองก็พยายามผลักดันข้อเสนอทางการส่งออกพลังงานแสงอาทิตย์ไปยังสิงคโปร์ผ่านสายเคเบิลขนาดใหญ่ใต้ทะเล ซึ่งหลายประเทศในอาเซียนก็ให้ความสนใจข้อเสนอดังกล่าวเช่นกัน
ส่วนประเด็นความมั่นคงทางทะเลและพฤติกรรมก้าวร้าวมากขึ้นในทะเลจีนใต้ของรัฐบาลปักกิ่ง ถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมสุดยอด
ข้อพิพาทเรื่องดินแดนในระเบียงการค้าที่สำคัญได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา โดยรัฐบาลปักกิ่งกำลังเผชิญปัญหาในพื้นที่ที่ชาติอาเซียนอ้างสิทธิ์เช่นกัน เช่น ฟิลิปปินส์และเวียดนาม
ในขณะเดียวกัน ออสเตรเลียซึ่งเป็นพันธมิตรที่ใกล้ชิดของสหรัฐฯ ก็กระตือรือร้นที่จะทลายอิทธิพลที่เพิ่มขึ้นของจีนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก
นักวิเคราะห์กล่าวว่า การประชุมสุดยอดนี้อาจมุ่งแสดงความกังวลเกี่ยวกับเสถียรภาพและความปลอดภัยของอาณาเขตทางทะเล หากสมาชิกทั้ง 10 ชาติเต็มใจออกแถลงการณ์ร่วมกัน ก็แสดงว่าพวกเขามีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ดังกล่าว
เวทีประชุมอาเซียนมักถูกวิพากษ์วิจารณ์บ่อยครั้งว่าเป็นเวทีที่ไม่จริงจังในการร่วมมือกัน เพราะแต่ละชาติไม่เต็มใจที่จะเสียสละผลประโยชน์เพื่อความมั่นคงและเติบโตของภูมิภาค
การประชุมสุดยอดที่เมลเบิร์นถือเป็นวาระครบรอบ 50 ปีนับตั้งแต่ออสเตรเลียกลายเป็นคู่เจรจารายแรกของอาเซียน และเป็นช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองครั้งสำคัญภายในสมาคม
โดยประธานาธิบดีโจโก วิโดโด ของอินโดนีเซีย จะก้าวลงจากตำแหน่งผู้นำภายในเดือนตุลาคม หลังจากครองอำนาจมา 10 ปี ขณะที่นายกรัฐมนตรีลี เซียนลุง ของสิงคโปร์ ซึ่งดำรงตำแหน่งมายาวนาน มีกำหนดจะลงจากตำแหน่งไม่นานหลังจากนั้น
ด้านเมียนมาเองก็เพิ่งส่งนักการทูตอาวุโสเข้าร่วมการประชุมสุดยอดอาเซียนเมื่อต้นปีนี้ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในรอบกว่า 2 ปี
แม้ว่าเมียนมาจะยังคงเป็นหนึ่งในสมาชิก 10 ชาติอาเซียน แต่ผู้แทนทางการเมืองและผู้นำจากรัฐบาลเผด็จการทหารก็ถูกสั่งห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูง เป็นการตอบโต้ที่ไม่ปฎิบัติตามมติร่วมที่เห็นพ้องกันในการแก้ไขความวุ่นวายในประเทศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
โบว์แดง 'รทสช.' ผสานกำลัง 2 กระทรวงปลดล็อก 'โซลาร์รูฟท็อป'
ไทยเดินหน้าพลังงานสะอาด “หิมาลัย” เผย “พีระพันธุ์-เอกนัฏ” ผสานกำลังปลดล็อก “โซลาร์รูฟท็อป” สำเร็จ เป็นผลงานชิ้นโบว์แดงพรรค