สภาโหวตเชห์บาซ ชารีฟ ให้เป็นนายกรัฐมนตรีปากีสถานสมัยที่ 2

เชห์บาซ ชารีฟ ได้รับการลงมติให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถานเป็นสมัยที่ 2 นำพันธมิตรการเมืองปิดทางอิมรอน ข่าน อดีตผู้นำที่ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ

เชห์บาซ ชารีฟ ได้รับการลงมติจากสภาผู้แทนฯให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของปากีสถานเป็นสมัยที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ (Photo by Arif ALI / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอาทิตย์ที่ 3 มีนาคม 2567 กล่าวว่า สถานการณ์คลุมเครือหลังการเลือกตั้งปากีสถานสิ้นสุดแล้ว เมื่อรัฐสภาลงมติเลือกให้เชห์บาซ ชารีฟ ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีและถือเป็นสมัยที่ 2 ของเจ้าตัว

สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรที่เพิ่งสาบานตนเข้ารับตำแหน่งในรัฐสภาของปากีสถานทำการลงมติเลือกชารีฟด้วยคะแนนเสียง 201 เสียง และทิ้งห่างโอมาร์ อายับ ข่าน ที่ยืนหยัดช่วงชิงอำนาจบริหารในฐานะตัวแทนอิมรอน ข่าน โดยเขาได้รับคะแนนเสียงไปเพียง 92 เสียง

สามสัปดาห์หลังจากการเลือกตั้งระดับชาติที่เต็มไปด้วยข้อกล่าวหาเรื่องการโกงเงินอย่างกว้างขวาง พรรคสันนิบาตมุสลิม (PMLN) และพรรคประชาชนปากีสถาน (PPP) ที่เคยเป็นคู่แข่งทางการเมืองกันมาก่อน ได้จับมือร่วมกับพรรคเล็กหลายกลุ่ม เพื่อไม่ให้ผู้สมัครอิสระซึ่งเป็นพันธมิตรของอดีตนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน และได้คะแนนเสียงมาเป็นอันดับหนึ่ง สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้

ในการจับมือดังกล่าว พรรคประชาชนปากีสถานได้รับสัญญาว่าจะมอบตำแหน่งประธานาธิบดีอีกสมัยให้อาซิฟ อาลี ซาร์ดารี หัวหน้าพรรคฯ หลังผลักดันชารีฟเป็นผู้นำรัฐบาลได้สำเร็จ

อดีตนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่านถูกห้ามลงสมัครรับเลือกตั้งครั้งล่าสุด และถูกจำคุกก่อนการเลือกตั้งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ ขณะที่พรรคเตห์รีก-อี-อินซาฟ (PTI) ของเขาถูกปราบปรามอย่างหนัก รวมทั้งถูกขัดขวางไม่ให้จัดการชุมนุมและถอดชื่อพรรคออกจากบัตรลงคะแนน ส่งผลให้ผู้สมัครต้องลงสมัครรับเลือกตั้งแบบอิสระแทน แต่ถึงกระนั้นก็ได้ที่นั่งมากกว่าพรรคอื่นๆ ทว่าพวกก็ไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาล เนื่องจากไม่สามารถรวมเสียงได้มากพอ จึงเป็นการปูทางให้ชารีฟกลับมาปกครองอีกสมัย

ชารีฟ วัย 72 ปี ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกในปี 2565 หลังจับมือกับพรรคอื่นๆในการโค่นอิมรอน ข่านให้พ้นจากตำแหน่งผู้นำประเทศในเดือนเมษายนปีเดียวกัน

ต่อจากนี้ ชารีฟจะต้องเผชิญกับวิกฤตการณ์ 3 อย่างที่จะมีผลโดยตรงต่อประชากร 240 ล้านคนของประเทศ

อัตราเงินเฟ้อยังคงอยู่ในระดับสูง และชารีฟจะต้องเผชิญมาตรการรัดเข็มขัดอย่างหนัก ซึ่งมีแนวโน้มว่าผู้ให้กู้จะเรียกร้องมาตรการใหม่ที่จำเป็นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

ปากีสถานจวนจะเกิดการผิดนัดชำระหนี้ทางเศรษฐกิจ ก่อนที่ข้อตกลงของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ในนาทีสุดท้าย จะช่วยกอบกู้สถานการณ์ล้มละลายไว้ได้

ประเด็นความมั่นคงก็เปราะบางเช่นกัน โดยรัฐบาลอิสลามาบัดยังต้องรับมือการโจมตีของกลุ่มตอลิบันปากีสถานที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังการกลับคืนสู่อำนาจในอัฟกานิสถานตั้งแต่ปี 2564

และท้ายที่สุดคือความมั่นคงทางการเมือง ที่พรรคเตห์รีก-อี-อินซาฟ (PTI) ยังคงมีความชอบธรรมผ่านผู้สมัครอิสระที่ได้รับชัยชนะมาเป็นอันดับหนึ่งในสภา และจะเป็นตัวแปรในการบริหารประเทศของรัฐบาลชุดใหม่ที่ประชาชนไม่นิยม รวมทั้งการรักษาความสัมพันธ์อันดีกับกองทัพซึ่งหลายฝ่ายเชื่อว่าเป็นผู้อยู่เบื้องหลังการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้.

เพิ่มเพื่อน