ตำรวจเกาหลีใต้ได้บุกเข้าไปในสำนักงานของสมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี หลังเลยเส้นตายของรัฐบาลที่ยังคงงัดข้อกับการนัดหยุดงานของแพทย์อันนำไปสู่ความวุ่นวายในโรงพยาบาล
ตำรวจยืนเฝ้าหน้าประตูทางเข้าออกของสมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี (KMA) ในกรุงโซล เมื่อวันที่ 1 มีนาคม ในภารกิจตรวจสอบสำนักงานของสมาคมฯ ซึ่งเกี่ยวข้องกับการยุยงส่งเสริมให้แพทย์นัดหยุดงาน (Photo by YONHAP / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 1 มีนาคม 2567 กล่าวว่า แพทย์ฝึกหัดเกือบ 10,000 คน หรือประมาณ 80% ของแพทย์ฝึกหัดทั้งระบบ ได้ลาออกจากงานเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว เพื่อประท้วงแผนการของรัฐบาลเกาหลีใต้ที่จะเพิ่มจำนวนนักศึกษาในโรงเรียนแพทย์อย่างปัจจุบันทันด่วนเพื่อรับมือกับการขาดแคลนและสังคมสูงวัย
รัฐบาลได้กำหนดเส้นตายในวันที่ 29 กุมภาพันธ์ เพื่อให้แพทย์ที่แจ้งลาออกและประท้วงหยุดงาน กลับมาทำงานตามเดิมหรือไม่ก็ต้องเผชิญกับการดำเนินคดีทางกฎหมาย รวมถึงการระงับใบอนุญาตทางการแพทย์และการถูกจับกุม
ตัวเลขที่เผยแพร่โดยกระทรวงสาธารณสุขเกาหลีใต้ระบุว่า มีแพทย์เพียง 565 คนที่กลับมาทำงานตามกำหนดเวลาเส้นตาย
การนัดหยุดงานจำนวนมากส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของโรงพยาบาล ส่งผลให้รัฐบาลยกระดับการแจ้งเตือนด้านสาธารณสุขไปสู่ระดับสูงสุด
กระทรวงสาธารณสุขฯระบุว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของตารางการผ่าตัดที่กำหนดไว้ในโรงพยาบาลใหญ่ 15 แห่งถูกยกเลิกตั้งแต่สัปดาห์ที่แล้ว
รัฐบาลใช้อำนาจตามกฎหมายสั่งห้ามไม่ให้แพทย์นัดหยุดงาน และเมื่อต้นสัปดาห์นี้ รัฐบาลได้ขอให้ตำรวจสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องกับการหยุดงานดังกล่าว
ล่าสุด ตำรวจเกาหลีใต้ยืนยันการดำเนินคดีกับสมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี (KMA)
ตำรวจกรุงโซลกล่าวว่า พวกเขาได้บุกเข้าไปในสำนักงานของสมาคมการแพทย์แห่งเกาหลีเมื่อวันศุกร์ เป็นส่วนหนึ่งของการใช้กฎหมายลงโทษต่อผู้ที่ยุยงให้เกิดการหยุดงานดังกล่าว
ทั้งนี้ การปฏิรูปของรัฐบาลมุ่งเพิ่มจำนวนนักเรียนแพทย์เพิ่มขึ้นอีก 65% หรือ 2,000 คนต่อปี โดยจะเริ่มตั้งแต่ปี 2568 เพื่อให้หลุดพ้นจากการมีอัตราส่วนแพทย์ต่อประชากรต่ำที่สุดในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว
แต่บรรดาแพทย์ที่ออกมาแสดงท่าทีคัดค้านอย่างรุนแรงต่อแผนการของรัฐบาลอ้างว่า การเพิ่มปริมาณนักเรียนแพทย์เชิงบังคับอย่างปัจจุบันทันด่วน จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพการบริการ
นอกจากนี้ แพทย์ส่วนใหญ่ยังกังวลด้วยว่า การปฏิรูปอาจส่งผลด้านลบต่อรายได้และสถานะทางสังคมของพวกเขา
อย่างไรก็ตาม นโยบายปฎิรูปของรัฐบาลได้รับเสียงตอบรับที่ดีในหมู่ประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่รู้สึกเบื่อหน่ายกับการรอคิวยาวที่โรงพยาบาล โดยผลสำรวจล่าสุดแสดงให้เห็นว่าผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 75% เห็นชอบนโยบายดังกล่าว
การที่ประธานาธิบดียุน ซ็อก-ยอล ยืนหยัดไม่ยอมแพ้กับการต่อต้านของบรรดาแพทย์ ทำให้เขาได้รับคะแนนนิยมพุ่งสูงขึ้นทันที ซึ่งอาจส่งผลดีต่อการเลือกตั้งสภานิติบัญญัติในเดือนเมษายนที่พรรคของยุนต้องการชิงที่นั่งส่วนใหญ่ในรัฐสภากลับคืนมา
สมาคมการแพทย์แห่งเกาหลี (KMA) ซึ่งโดนตรวจสอบ กล่าวหารัฐบาลว่าใช้ "กลวิธีข่มขู่" เพื่อพยายามบังคับให้แพทย์กลับมาทำงาน และกล่าวว่ารัฐบาลกำลังเปลี่ยนประเทศให้เป็น "รัฐเผด็จการ"
สมาคมการแพทย์ดังกล่าวจะจัดการเดินขบวนในกรุงโซลวันอาทิตย์นี้ โดยรายงานท้องถิ่นคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมาณ 25,000 คน.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'พิธา' โหนเวทีผู้นำเอเชีย ตีปี๊บ 'ก้าวไกล' สะพานเชื่อมลดขัดแย้งสังคมไทย
‘พิธา’ ถกเวทีความเป็นผู้นำแห่งเอเชีย ย้ำ ’ก้าวไกล’ เป็นสะพานเชื่อมช่องว่างของสังคม ลั่นความฝันคนไทย อยากได้ ‘การเมืองดี ปากท้องดี มีอนาคต’