ปาปัวนิวกินีลงนามสัตยาบันในข้อตกลงกลาโหมกับอินโดนีเซียแล้ว หลังผ่านไปเกือบ 14 ปีจากข้อตกลงริเริ่มเบื้องต้น
อันเดรียนนา ซูปันดี เอกอัครราชทูตอินโดนีเซียประจำปาปัวนิวกินี แลกเปลี่ยนสำเนาข้อตกลงความร่วมมือกลาโหมกับจัสติน ทีคัทเชนโก รัฐมนตรีต่างประเทศปาปัวนิวกินี (ที่ 3 จากซ้าย), จอห์น อกิเป รัฐมนตรีกลาโหมปาปัวนิวกินี (ที่ 2 จากซ้าย) และพลเรือจัตวาฟิลิป โพเลวารา รักษาการผู้บัญชาการกองกำลังป้องกันประเทศ (ขวา) ระหว่างพิธีในเมืองหลวงพอร์ตมอร์สบี เมื่อวันที่ 29 กุมภาพันธ์ (Photo by Greenville Professional Firefighters Association / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 29 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า รัฐบาลปาปัวนิวกินีและรัฐบาลอินโดนีเซียเดินหน้าความร่วมมือด้านกลาโหมอย่างเป็นทางการ หลังสิ้นสุดการลงนามที่ยืดเยื้อมานานกว่าทศวรรษ
ทั้งสองประเทศลงนามข้อตกลงความร่วมมือด้านกลาโหมครั้งแรกในปี 2553 โดยตกลงที่จะแบ่งปันข่าวกรองทางทหาร, ให้การสนับสนุนด้านลอจิสติกส์ และประสานงานปฏิบัติการด้านความมั่นคง
ในขณะที่อินโดนีเซียให้สัตยาบันในเอกสารดังกล่าวไปแล้วเมื่อหลายปีก่อน แต่รัฐสภาของปาปัวนิวกินีเพิ่งให้สัตยาบันเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมานี้เอง โดยรัฐบาลเพิ่งประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการในอีกหนึ่งสัปดาห์ต่อมา
ปาปัวนิวกินีมีความสัมพันธ์อึมครึมกับอินโดนีเซียนับตั้งแต่รัฐบาลจาการ์ตาผนวกดินแดนปาปัวตะวันตกเป็นของประเทศตน จากการลงคะแนนเสียงที่มีการโต้แย้งจากบรรดาชนเผ่าในพื้นที่เมื่อปี 2512
ขบวนการปาปัวเสรีที่สนับสนุนเอกราชได้ก่อความไม่สงบให้กับกองทัพอินโดนีเซียมานานหลายทศวรรษ ส่งผลให้เกิดการลี้ภัยจำนวนมากและบางส่วนไปตั้งตัวเป็นกลุ่มกบฏข้ามพรมแดนในพื้นที่ปาปัวตะวันตกติดกับปาปัวนิวกินี
จัสติน ทีคัทเชนโก รัฐมนตรีต่างประเทศปาปัวนิวกินีกล่าวในแถลงการณ์ประจำสัปดาห์ว่า "เราเดินหน้าข้อตกลงกลาโหมเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยอันเป็นรากฐานสำคัญของการค้า, การลงทุน และเศรษฐกิจ"
"ในปาปัวนิวกินี เรามีความท้าทายด้านความปลอดภัยหลายประการตามแนวชายแดนระยะทาง 800 กิโลเมตร และข้อตกลงนี้จะช่วยสร้างความสามารถและส่งเสริมมาตรการความปลอดภัยให้กับประเทศของเราได้" รัฐมนตรีฯกล่าวเสริม.