ชายไต้หวัน 2 คนถูกตัดสินจำคุกคนละ 2 ปี หลังทำคอนเทนต์ออนไลน์ในสีหนุวิลล์ และเผยแพร่เหตุการณ์ที่เสมือนว่าตนเองถูกลักพาตัว
Chen Neng-Chuan (ที่ 3 จากขวา) และ Lu Tsu-hsin (ที่ 2 จากขวา) ยืนอยู่กับตำรวจกัมพูชาในระหว่างการแถลงข่าวที่จังหวัดพระสีหนุ หลังถูกจับในข้อหาเผยแพร่เนื้อหาวิดีโอเกี่ยวกับการลักพาตัวปลอม เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ (Photo by Handout / Preah Sihanouk Provincial Administration / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า อินฟลูเอนเซอร์ชายชาวไต้หวัน 2 คน ได้แก่ Chen Neng-Chuan อายุ 31 ปี และ Lu Tsu-hsin อายุ 34 ปี ถูกจับกุมหลังจากพวกเขาโพสต์วิดีโอบนเฟซบุ้กที่อ้างว่าตนเองถูกควบคุมตัวและถูกทุบตีโดยเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยที่อาคารแห่งหนึ่งในสีหนุวิลล์ของกัมพูชาเมื่อต้นสัปดาห์
ศาลจังหวัดพระสีหนุระบุในคำแถลง กล่าวว่า "ชายชาวต่างชาติสองคนข้ามาในกัมพูชาเพื่อผลิตวิดีโอที่มีเนื้อหาหมิ่นประมาทด้านการค้ามนุษย์, การคุมขังด้วยการทรมาน, การข่มขืนใจ และการค้าอวัยวะมนุษย์"
ศาลวินิจฉัยว่า พวกเขามีความผิดในข้อหายุยงให้เกิดความวุ่นวายต่อความสงบเรียบร้อยของสังคม ในการพิจารณาคดีเมื่อวันพฤหัสบดี
ชาวไต้หวันทั้งสองถูกตัดสินจำคุกคนละ 2 ปี และสั่งปรับรวมกันประมาณ 2,000 ดอลลาร์ (ประมาณ 72,000 บาท)
หน่วยปกครองประจำจังหวัดกล่าวว่า บุคคลเหล่านี้ผลิตวิดีโอที่มีเนื้อหาปลอมซึ่งส่งผลต่อเกียรติ, ความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงในพื้นที่
ที่ผ่านมามักมีรายงานข่าวในวงกว้างเกี่ยวกับการค้ามนุษย์และการหลอกลวงออนไลน์ในกัมพูชา โดยส่วนใหญ่ผู้ที่ถูกล่อลวงมากระทำอาชญากรรมมักเป็นชาวจีนและไต้หวัน รวมทั้งประเทศอื่นๆประปราย เพื่อให้มาทำงานด้านการหลอกเอาเงินเหยื่อผ่านกิจกรรมออนไลน์
สำนักข่าวกลางไต้หวันอธิบายเรื่องราวซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการจับกุมว่า ชายคนหนึ่งถ่ายทอดสดวิดีโอเมื่อคืนวันจันทร์ โดยอ้างว่าตัวเองได้บุกเข้าไปในเมืองร้างสีหนุวิลล์ ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการล่อลวงคนมาทำอาชญากรรมออนไลน์
ในวิดีโอดังกล่าว ดูเหมือนว่าเขาถูกไล่ล่าและทุบตีโดยบุคคลที่ไม่เปิดเผยตัว ในขณะที่วิดีโอถัดมาตัวเขาอ้างว่าบุคคลนั้นหลบหนีไปแล้ว
จากนั้น มีวีดีโอต่อเนื่องที่เขาแสดงอาการบาดเจ็บและอธิบายว่าถูกปล้น, ถูกพันธนาการ, ถูกทุบตี และถูกทำร้ายร่างกายด้วยเครื่องช็อตไฟฟ้า ในการเผยแพร่ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่มีผู้ติดตามจำนวนมาก จนท้ายที่สุดมีการพิสูจน์ว่าเรื่องราวดังกล่าวเป็นเพียงการสร้างเรื่องเท็จขึ้นมาเท่านั้น
ปีที่แล้ว องค์การสหประชาชาติระบุในรายงานว่าผู้คนหลายแสนคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กำลังถูกแก๊งอาชญากรขู่เข็ญและทำร้ายให้ดำเนินการหลอกลวงทางออนไลน์
หลายคนเต็มใจที่จะเข้าสู่วงจรเหล่านั้น แต่หลายคนตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์และเผชิญกับการละเมิดร้ายแรง เช่น การทรมาน หรือความรุนแรงทางเพศ.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ดุสิตโพล เผยภัยหลอกลวงออนไลน์ เป็นปัญหาใหญ่สุดอย่างให้เข้มงวดแก้ไข
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ เรื่อง “ภัยสังคมที่ประชาชนอยากให้เร่งแก้ไข” กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,357 คน (สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม) ระหว่างวันที่ 15-18 ตุลาคม 2567
'ดีอี' โชว์ระงับ 300,000 บัญชี 'หลอกลวงออนไลน์'
ดีอี ตอบกระทู้ถามสด สว. โชว์ผลงาน AOC 1441 ปราบ “หลอกลวงออนไลน์” ระงับบัญชีแล้วกว่า 300,000 บัญชี
'วราวุธ' ไม่ฟันธงปม 'ขอทานจีน' เป็นขบวนการข้ามชาติ-แก๊งค้ามนุษย์หรือไม่!
'วราวุธ' ย้ำ พม. ประสานงาน ตำรวจ-กทม.-หน่วยงานเกี่ยวข้อง ลุยแก้ปมขอทาน ระบุ หากขบวนการข้ามชาติ ต้องถูกดำเนินคดี-ส่งกลับ