ตำรวจอินเดียยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มประท้วงชาวนาเดินขบวนสู่เมืองหลวง

ตำรวจอินเดียยิงแก๊สน้ำตาสกัดกั้นม็อบเกษตรกรหลายพันคนที่เรียกร้องแก้ปัญหาราคาพืชผลตกต่ำ ขณะเดินขบวนสู่กรุงนิวเดลี หลังล้มเหลวในการเจรจากับรัฐบาล

เจ้าหน้าที่กองกำลังความมั่นคงของอินเดียยืนเฝ้าสิ่งกีดขวางบนถนนระหว่างการนัดหยุดงานทั่วประเทศที่เรียกร้องโดยกลุ่มเกษตรกร ตามแนวชายแดนรัฐกาซีปูร์ นิวเดลี-อุตตรประเทศ เมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ (Photo by Sajjad HUSSAIN / Sajjad HUSSAIN / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 13 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า กองกำลังความมั่นคงของอินเดียยิงแก๊สน้ำตาใส่กลุ่มผู้ประท้วงเกษตรกรที่เดินขบวนมุ่งหน้าสู่กรุงนิวเดลี หลังล้มเหลวในการเจรจากับรัฐบาลกรณีราคาพืชผลตกต่ำ

สถานีโทรทัศน์ท้องถิ่นเผยให้เห็นภาพเจ้าหน้าที่ยิงแก๊สน้ำตาเข้าสลายผู้ประท้วงใกล้เมืองอัมบาลา ซึ่งอยู่ห่างจากเมืองหลวงไปทางเหนือประมาณ 200 กิโลเมตร

ตำรวจได้ตั้งด่านปิดล้อมด้วยรั้วลวดหนาม, แท่งซีเมนต์ และเหล็กแหลม บนทางหลวงจาก 3 รัฐโดยรอบที่มุ่งหน้าสู่นิวเดลี เพื่อสกัดกั้นทั้งขบวนคนและขบวนรถแทร็กเตอร์หลายร้อยคันที่กำลังเคลื่อนตัวออกจากรัฐโดยรอบอย่างปัญจาบ, หรยาณา และอุตตรประเทศ เพื่อไปให้ถึงนิวเดลี

รานเจย์ อาตริชยา ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจเดลี บอกกับเอเอฟพีว่า หน่วยงานได้ระดมกำลังพลสูงสุดเพื่อเตรียมรับมือ พร้อมออกประกาศห้ามชุมนุมในที่สาธารณะเกิน 5 คนในเขตเมืองหลวง

ตำรวจได้ทำการปิดถนนในเมืองกาซีปูร์ ชานเมืองเดลี โดยใช้แนวปิดล้อมหลายแถว โดยแนวป้องกันชั้นแรกถูกสร้างขึ้นโดยใช้ลวดหนาม ชั้นต่อมาเป็นแผงกั้นโลหะและบล็อกคอนกรีต ส่วนชั้นสุดท้ายคือกั้นด้วยรถบัสตำรวจ

ทั้งนี้ เกษตรกรในอินเดียถือว่ามีอิทธิพลทางการเมืองเป็นพิเศษ เนื่องจากมีจำนวนมาก และการขู่ว่าจะมีการประท้วงครั้งใหม่ก่อนการเลือกตั้งระดับชาติที่จะเริ่มในเดือนเมษายน อาจสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับทิศทางการเมืองไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

สองในสามของประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคนในอินเดีย ดำรงชีพด้วยการทำเกษตรกรรม ซึ่งคิดเป็นเกือบหนึ่งในห้าของจีดีพีทั้งประเทศ ตามตัวเลขของรัฐบาล

บรรดาเกษตรกรกำลังเรียกร้องให้มีกฎหมายกำหนดราคาขั้นต่ำสำหรับพืชผลของตน นอกเหนือจากการให้สัมปทานอื่นๆ รวมถึงการยกเว้นดอกเบี้ยเงินกู้

เจ้าหน้าที่สหภาพเกษตรกรระดับสูงคนหนึ่งจากรัฐปัญจาบ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า "เราพยายามแก้ไขปัญหาของเราอย่างเต็มที่ผ่านการหารือกับรัฐบาล แต่พวกเขายืนกรานที่จะกดขี่เราต่อไป"

เช่นเดียวกับ รานดีฟ สุเจวาลา ส.ส.ฝ่ายค้านจากรัฐหรยาณา ซึ่งเป็นรัฐที่มีเกษตรกรเดินประท้วงจำนวนมาก กล่าวว่า "รัฐบาลควรรับฟังเกษตรกรแทนที่จะใช้กระสุนและแก๊สน้ำตาโจมตีพวกเขา"

ก่อนหน้านี้ เคยมีการประท้วงใหญ่ของเกษตรกรต่อร่างกฎหมายปฏิรูปการเกษตรในเดือนพฤศจิกายน 2563 ซึ่งกินเวลานานกว่าหนึ่งปี และก่อให้เกิดความท้าทายครั้งใหญ่ที่สุดต่อรัฐบาลของนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี นับตั้งแต่ขึ้นครองอำนาจในปี 2557

จากนั้นเกษตรกรหลายหมื่นคนได้ปักหลักตั้งค่ายพักแรมชั่วคราวเพื่อกดดันรัฐบาล จนเหตุบานปลายและมีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 700 รายระหว่างการประท้วง

หนึ่งปีหลังจากนั้น โมดีได้ผลักดันผ่านรัฐสภาให้ยกเลิกกฎหมายที่เป็นที่ถกเถียง 3 ฉบับที่เกษตรกรอ้างว่าจะทำให้บริษัทเอกชนเข้ามาควบคุมภาคเกษตรกรรมของประเทศได้ในท้ายที่สุด

เกษตรกรอินเดียหลายพันรายเสียชีวิตจากการฆ่าตัวตายทุกปี เนื่องจากความยากจน, หนี้สิน และพืชผลที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ.

เพิ่มเพื่อน