เมื่อสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเปิดเผยความจริงต่อสาธารณะ

AFP

ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 1952 ที่พระราชวังแซนดริงแฮม พระเจ้าจอร์จที่ 6 ซึ่งเป็นพระอัยกาของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 สิ้นพระชนม์อยู่บนแท่นบรรทมในตอนเช้า พระองค์สิ้นพระชนม์ขณะบรรทมด้วยพระชนมายุเพียง 56 พรรษา อย่างที่รับรู้กันในปัจจุบัน จากผลที่ตามมาของโรคมะเร็งปอด แต่การแถลงข่าวอย่างเป็นทางการของสำนักพระราชวังในขณะนั้นระบุเพียงว่า พระมหากษัตริย์ทรงยอมจำนนต่อผลกระทบของโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ โดยไม่เอ่ยถึงโรคมะเร็งเลย

สาเหตุของการสิ้นพระชนม์นี้ไม่ได้ถูกสอบสวน อย่างน้อยก็ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณะ เป็นที่รู้กันทั่วไปในสมัยนั้นว่าพระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงโปรดพระโอสถมวนต่อเนื่องตั้งแต่พระชันษา 16 ปี และทรงพระกาสะ (ไอ) เรื้อรังมาหลายปี แต่ข้อมูลทางการแพทย์โดยละเอียดเกี่ยวกับอาการของพระองค์ไม่เคยถูกเปิดเผยต่อสาธารณะ และถือเป็นความลับของรัฐ นั่นเป็นประเพณียาวนานหลายศตวรรษ เพราะสุขภาพที่ไม่ดีของกษัตริย์อาจทำให้ประเทศอ่อนแอ

แต่สำนักพระราชวังอังกฤษในปี 2024 ดูแตกต่างไปจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เมื่อข่าวประชาสัมพันธ์ของพระราชวังบักกิงแฮมเปิดเผยว่า “ในหลวงทรงขอบคุณคณะแพทย์ของพระองค์สำหรับการรักษาพยาบาลในโรงพยาบาลเมื่อเร็วๆ นี้ พระองค์ทรงเลือกที่จะสื่อสารการวินิจฉัยของพระองค์อย่างเปิดเผย เพื่อป้องกันการคาดเดา และหวังว่าจะเพิ่มความเข้าใจให้กับประชาชนทุกคนทั่วโลก ที่ได้รับผลกระทบจากโรคมะเร็ง”

การเปิดเผยครั้งนี้แสดงถึงการก้าวออกจากวิถีที่ราชวงศ์จัดการกับการวินิจฉัยโรคมะเร็งครั้งก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ สมาชิกราชวงศ์วินด์เซอร์รุ่นก่อนหน้านี้ไม่เคยคิดฝันที่จะรับมือกับความเจ็บป่วยร้ายแรงอย่างเปิดเผย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับโรคร้ายอย่างมะเร็ง

ไม่เพียงแต่อาการประชวรของพระเจ้าจอร์จที่ 6 เท่านั้นที่ถูกเก็บเป็นความลับ ในช่วงหลายปีต่อมาสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ-พระมเหสีหม้ายของพระองค์ ก็ทรงรักษามะเร็งพระอันตะ (ลำไส้ใหญ่) เป็นเรื่องส่วนพระองค์เช่นกัน มีการเปิดเผยเพียงสั้นๆ ในชีวประวัติมรณกรรมของควีนมัมในปี 2009 ว่า มีการผ่าตัดเนื้องอกออกจากพระอันตะของพระองค์ในช่วงทศวรรษ 1960 รวมถึงการผ่าตัดมะเร็งพระถัน (เต้านม) ในปี 1984 ก็ถูกเปิดเผยต่อสาธารณชนว่าเป็นการตรวจสุขภาพตามปกติในโรงพยาบาล

หรือแม้กระทั่งกับสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ผู้ล่วงลับไปแล้ว ยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับโรคมะเร็งที่ไม่ได้รับการสื่อสาร อาจจะไม่ทั้งในครอบครัวราชวงศ์หรืออย่างเป็นทางการ ในเดือนกันยายน 2022 สาเหตุการสิ้นพระชนม์ของพระองค์ถูกระบุเพียงเพราะ “ชราภาพ” เท่านั้น แต่ตามชีวประวัติที่ตีพิมพ์หลังจากนั้นไม่นานโดย ไกลส์ บรันเดร็ธ-นักเขียนชื่อดังซึ่งเป็นคนสนิทของเจ้าชายฟิลิป กล่าวถึงสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ว่าทรงทนทุกข์ทรมานจากโรคมะเร็งกระดูกรูปแบบที่หายาก มาเป็นเวลาหลายเดือนก่อนหน้านั้น

การตัดสินพระทัยของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ที่ทรงเปิดเผยเกี่ยวกับการวินิจฉัยและการรักษาของพระองค์อาจเกี่ยวข้องกับความก้าวหน้าทางการแพทย์ด้วย ทางเลือกการรักษาโรคมะเร็งสมัยใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตรวจพบในระยะแรกๆ โอกาสในการเยียวยารักษามีสูง การวินิจฉัยดังกล่าวไม่จำเป็นต้องถือเป็นคำตัดสินประหารอีกต่อไป

คำแถลงของสำนักพระราชวังเมื่อวันจันทร์ระบุว่า สมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 ทรงเข้ารับการรักษาด้วยพระอารมณ์เชิงบวก และทรงตั้งพระทัยที่จะเสด็จกลับไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจโดยเร็วที่สุด.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ยิงปืนใหญ่สดุดีเนื่องในวันครบรอบปีแรกพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3

วันครบรอบพระราชพิธีราชาภิเษกของสมเด็จพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 3 มีขึ้นเป็นปีแรกเมื่อวันจันทร์ เมื่อเวลา 12.00 น. (ตามเวลาท้องถิ่