หลายพื้นที่ในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ถูกน้ำท่วมเมื่อวันจันทร์ ทำให้ประชาชนหลายแสนคนไม่มีไฟฟ้าใช้ หลังจากพายุพัดถล่มจนเกิดฝนตกหนักและต้องประกาศภาวะฉุกเฉิน
ภาพถ่ายทางอากาศของถนนแห่งหนึ่งซึ่งถูกน้ำท่วม ในเมืองโซโนมา รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ (Photo by JOSH EDELSON / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 5 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า ฝนที่ตกหนักจากอิทธิพลของพายุพัดถล่มในรัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ ส่งผลกระทบให้เกิดน้ำท่วมและไฟฟ้าดับในหลายพื้นที่ได้แก่ ลอสแองเจลิส, ออเรนจ์, ริเวอร์ไซด์, ซานเบอร์นาร์ดิโน, ซานดิเอโก และซานตาบาร์บารา
เกวิน นิวซัม ผู้ว่าการรัฐฯกล่าวว่า พายุรอบนี้ร้ายแรงจนอาจก่อให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายและอาจถึงแก่ชีวิตได้ จึงจำเป็นต้องมีการประกาศภาวะฉุกเฉินใน 8 เทศมณฑลทางตอนใต้ของแคลิฟอร์เนีย
มีรายงานครัวเรือนเกือบ 700,000 รายไม่มีไฟฟ้าใช้ในช่วงเช้าวันจันทร์ ตามรายงานของ PowerOutage.us ซึ่งเป็นระบบติดตามการจ่ายไฟฟ้า
เช่นเดียวกับเที่ยวบินขาเข้าและขาออกจากสนามบินลอสแองเจลิสหลายสิบเที่ยวบินที่ต้องล่าช้ากว่ากำหนดหรือถูกยกเลิก ตามข้อมูลของ flightaware.com
ก่อนหน้านี้ กรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐได้ออกคำเตือนว่า "พายุแปซิฟิกกำลังแรงจะทำให้เกิดฝนตกหนักและเป็นอันตราย รวมทั้งหิมะตกหนัก, ลมกระโชกแรง, น้ำท่วมชายฝั่ง และคลื่นสูงในแคลิฟอร์เนีย" และเสริมว่า "ฝนตกหนักจะก่อให้เกิดภัยคุกคามต่อชีวิต, น้ำป่าไหลหลาก, แม่น้ำเอ่อล่นจนน้ำท่วมเมือง รวมถึงดินโคลนถล่ม"
ทั้งนี้ พายุที่มีความเร็วลมกระโชกแรง 60 ไมล์ต่อชั่วโมงหรือมากกว่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของระบบอากาศ "ไพน์แอปเปิล เอ็กซ์เพรส (Pineapple Express)" ซึ่งเป็นปรากฏการณ์สภาพอากาศที่เติบโตในฮาวายบริเวณใกล้กับพื้นที่ที่กำลังเกิดความชื้นเขตร้อน โดยกรมอุตุนิยมวิทยาแห่งชาติสหรัฐเรียกพายุนี้ว่าเป็น "พายุลูกใหญ่ที่สุดของฤดูกาล"
ชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐฯ ต้องเผชิญกับฤดูหนาวที่ยากลำบากเมื่อปีที่แล้ว เมื่อแม่น้ำหลายสายในชั้นบรรยากาศได้ปล่อยปริมาณฝนและหิมะหลายพันล้านแกลลอนลงสู่พื้นที่ ซึ่งทำให้เกิดน้ำท่วมในวงกว้างและการเดินทางหยุดชะงัก รวมถึงปัญหาระบบไฟฟ้าขาดแคลน มาก่อนแล้ว
แม้ว่าสภาพอากาศที่เปียกชื้นไม่ใช่เรื่องผิดปกติในช่วงฤดูหนาวของรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์กำลังเปลี่ยนแปลงรูปแบบสภาพอากาศของโลก อันส่งผลให้เกิดพายุบ่อยมากขึ้น, รุนแรงขึ้น และคาดเดาไม่ได้มากขึ้น ขณะเดียวกันก็ทำให้ช่วงฤดูแห้งแล้งมีอุณหภูมิสูงขึ้นและยาวนานขึ้น.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'ปชน.' ชงข้อเสนอรัฐบาล ประชุมโลกร้อน 'COP29' เร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero
'ปชน.' ชงข้อเสนอ รัฐบาล ในการประชุมโลกร้อน 'COP29' แนะเร่งปรับมาตรการเปลี่ยนผ่านสู่ Net Zero ให้เป็นรูปธรรม-ดันร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้เกิดขึ้นภายในครึ่งปีหน้า