คณะกรรมการอภัยโทษของมาเลเซียประกาศลดโทษจำคุกครึ่งหนึ่งของอดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก เหลือ 6 ปี จากคดีทุจริตคอร์รัปชัน
แฟ้มภาพ อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก ของมาเลเซีย (Photo by Mohd RASFAN / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันศุกร์ที่ 2 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า คณะกรรมการอภัยโทษของมาเลเซียประกาศลดโทษจำนวนครึ่งหนึ่งให้แก่อดีตนายกรัฐมนตรีนาจิบ ราซัก เหลือโทษจำคุก 6 ปีที่ได้รับจากการถูกตัดสินว่ามีความผิดในคดีอื้อฉาวทางการเงิน 1MDB
นาจิบถูกส่งตัวเข้าเรือนจำเมื่อเดือนสิงหาคม 2565 หลังศาลสูงสุดของประเทศพิพากษายืนโทษจำคุก 12 ปีของเขาในข้อหาทุจริตคดีดังกล่าวที่มีความเสียหายมูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์
คำแถลงระบุว่า "หลังจากพิจารณาความคิดเห็นและคำแนะนำรอบด้านแล้ว คณะกรรมการอภัยโทษได้ตัดสินใจลดโทษจำคุกและโทษปรับที่นาจิบ ราซัค ได้รับ ลงกึ่งหนึ่ง"
คณะกรรมการชุดนี้ที่มีอดีตสมเด็จพระราชาธิบดี สุลต่าน อับดุลเลาะห์ สุลต่าน อะหมัด ชาห์ เป็นประธาน รวมถึงอัยการสูงสุด ได้ประชุมกันเมื่อวันจันทร์ ก่อนลงมติตามแถลงการณ์โดยไม่ได้ระบุเหตุผลอื่นใดในการพิจารณา
แถลงการณ์ยังระบุด้วยว่านาจิบจะได้รับการปล่อยตัวในปี 2571 และโทษปรับของเขาจะลดลงเหลือ 50 ล้านริงกิต (ประมาณ 373 ล้านบาท) ทั้งนี้ หากผู้กระทำผิดไม่จ่ายค่าปรับ จะได้รับโทษจำคุกเพิ่มอีก 1 ปี
นาจิบ ราซัก วัย 70 ปี หลุดจากตำแหน่งผู้นำประเทศเมื่อปี 2561 ด้วยข้อกล่าวหายักยอกทรัพย์มูลค่าหลายพันล้านดอลลาร์สหรัฐจากกองทุน 1MDB
หลังจากการไต่สวนของศาลสูงเป็นเวลาหลายปี นาจิบ ราซัก ถูกตัดสินว่ามีความผิดฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ, ข้อหาฟอกเงิน และการละเมิดความไว้วางใจทางอาญาจากการโอนเงิน 42 ล้านริงกิต (ประมาณ 330 ล้านบาท) จากกองทุน 1MDB ไปยังบัญชีธนาคารของตัวเอง
นาจิบ ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีระหว่างปี 2552-2561 อ้างว่าเขาไม่ได้รับการไต่สวนอย่างยุติธรรม โดยกล่าวหาว่าผู้พิพากษามีผลประโยชน์ทับซ้อน และทีมกฎหมายชุดใหม่ของเขาไม่ได้รับอนุญาตให้มีเวลาเพียงพอในการศึกษาเอกสารคดี จึงพยายามขออุทธรณ์แต่ไม่สำเร็จ
ทั้งนี้ กษัตริย์มาเลเซียทรงใช้พระราชอำนาจในการอภัยโทษผู้ต้องหา และบทบาทของพระองค์ได้รับเกียรติอย่างสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่ชาวมาเลย์มุสลิมที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ
มาเลเซียเป็นประเทศที่มีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขตามรัฐธรรมนูญ โดยบัลลังก์จะเปลี่ยนมือทุกๆ ห้าปีระหว่างผู้ปกครองรัฐทั้ง 9 ของมาเลเซีย ตามธรรมเนียมของราชวงศ์อิสลามซึ่งมีอายุหลายศตวรรษ
อย่างไรก็ตาม นาจิบอาจต้องเผชิญข้อหาอื่นๆ อีกหลายสิบคดี โดยส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับคดีอื้อฉาว 1MDB ที่เขามีบทบาทพัวพันกับการฟอกเงินทั่วโลก ทั้งในสหรัฐอเมริกา, สวิตเซอร์แลนด์ และสิงคโปร์
เจมส์ ชิน ศาสตราจารย์ด้านเอเชียศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยแทสเมเนียในออสเตรเลียกล่าวว่า การลดโทษให้นาจิบ ราซักอาจสร้างความเสียหายต่อนโยบายปฏิรูปของนายกรัฐมนตรีอันวาร์ อิบราฮิม ที่เขารณรงค์ให้ขจัดการทุจริตในแคมเปญเลือกตั้งปี 2565
"การลดโทษจำคุกของนาจิบทำให้เราได้ตระหนักว่า มีกฎสองข้อในมาเลเซีย กฎหนึ่งสำหรับชนชั้นสูงที่มีอำนาจ และอีกกฎหนึ่งสำหรับผู้คนทั่วไป" เขากล่าวกับเอเอฟพี.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'บิ๊กตู่-อันวาร์' ชื่นมื่น 'ไทย-มาเลเซีย' กระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น
รัฐบาลไทยเปิดทำเนียบฯต้อนรับ นายกฯมาเลเซีย กระชับความสัมพันธ์แน่นแฟ้น เร่งส่งเสริมการพัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจชายแดน พร้อมลงนามความตกลง 4 ฉบับ ทั้งด้านพลังงาน และ เศรษฐกิจดิจิทัล ขณะที่ 'อันวาร์' ชวน 'บิ๊กตู่' เยือนมาเลเซียอีกครั้ง
'หมอพรทิพย์' ยินดี 'อันวาร์' นั่งนายกฯมาเลเซีย เผยเคยช่วยคดีจนถูกการเมืองเล่นงาน!
แพทย์หญิงคุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ สมาชิกวุฒิสภา และอดีตผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กเมื่อ 25 พ.ย.ที่ผ่านมาว่า วันนี้ทราบข่าวของประเทศเพื่อนบ้าน