ฮั่นโกวยู อดีตนายกเทศมนตรีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของไต้หวัน ได้รับเลือกให้เป็นประธานรัฐสภาคนใหม่
ฮั่นโกวยู (กลาง) แสดงความยินดีร่วมกับสมาชิกพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) หลังจากที่เขาได้รับเลือกเป็นประธานรัฐสภาไต้หวัน ในวันแรกของการเปิดประชุม ที่กรุงไทเป เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ (Photo by I-Hwa CHENG / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 กล่าวว่า ภายหลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปที่ทำให้ได้ประธานาธิบดีคนใหม่รวมทั้งสมาชิกสภานิติบัญญัติคณะใหม่ไปตั้งแต่กลางเดือนมกราคม ล่าสุดไต้หวันทำการเปิดรัฐสภาเพื่อเลือกประธานคนใหม่
การชิงชัยในรัฐสภาระหว่างพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT) จบลงด้วยชัยชนะของฮั่นโกวยู อดีตนายกเทศมนตรีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีจากพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งเป็นพรรคฝ่ายค้านหลักของไต้หวัน
สมาชิกสภานิติบัญญัติไต้หวันเลือกฮั่นเป็นประธานรัฐสภาคนใหม่ด้วยคะแนนเสียง 54 เสียงในการเลือกตั้งรอบที่สอง ในขณะที่โหยว ซีคุน คู่แข่งจากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ได้รับคะแนนเสียง 51 เสียง ท่ามกลางเสียงโห่ร้องยินดีจากขั้วฝ่ายค้านเดิม
ไม่มีผู้สมัครคนใดจากทั้งหมด 3 คนที่ได้รับเสียงข้างมากในการลงคะแนนเสียงรอบแรก และสมาชิกสภานิติบัญญัติ 8 คนของพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) งดออกเสียง หลังจากหวง ชานชาน ผู้สมัครจากพรรคของตน ล้มเหลวในการผ่านเข้ารอบที่สอง
ชัยชนะครั้งนี้ถือเป็นการหวนคืนเส้นทางการเมืองของฮั่นซึ่งถูกขับออกจากตำแหน่งนายกเทศมนตรีเมืองเกาสงในปี 2563 ไม่กี่เดือนหลังจากที่เขาลงแข่งชิงตำแหน่งผู้นำไต้หวันกับไช่ อิงเหวิน แต่พ่ายแพ้
ฮั่นใช้จุดขายในการสร้างความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับจีนในระหว่างการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดีกับไช่ ซึ่งให้คำมั่นว่าจะปกป้องอธิปไตยของไต้หวันจากภัยคุกคามจากแผ่นดินใหญ่
จีนอ้างว่าเกาะที่ปกครองตนเองแห่งนี้เป็นดินแดนของตน ซึ่งจะถูกยึดคืนในสักวันหนึ่ง และเพิ่มความกดดันต่อไต้หวันมากขึ้นเรื่อยๆนับตั้งแต่ไช่ อิงเหวินขึ้นสู่อำนาจ
ฮั่นคว้าชัยชนะในการเลือกตั้งนายกเทศมนตรีเกาสงเมื่อปี 2561 แต่การลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ไม่ประสบผลสำเร็จกลับทำให้การสนับสนุนจากท้องถิ่นของเขาลดลงเช่นกัน
ฮั่นกลายเป็นนายกเทศมนตรีคนแรกที่ได้รับการโหวตให้ออกจากตำแหน่งในปี 2563 โดยที่ชาวเมืองของเขารู้สึกว่าถูกละเลยจากคำมั่นสัญญาที่จะทำให้ชาวเมืองกินดีอยู่ดี
ภูมิทัศน์ทางการเมืองของไต้หวันถูกครอบงำโดยสองพรรคการเมืองมานานหลายทศวรรษ ได้แก่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) และพรรคก๊กมินตั๋ง (KMT)
ไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีเมื่อเดือนที่แล้ว แต่ทั้งประชาธิปไตยก้าวหน้าและก๊กมินตั๋งไม่ได้รับที่นั่งเพียงพอจะเป็นเสียงข้างมากในสภานิติบัญญัติที่มีทั้งหมด 113 ที่นั่ง
เคอ เหวินเจ๋อ จากพรรคประชาชนไต้หวัน (TPP) ได้อันดับสุดท้ายในการแข่งขันชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่พรรคของเขาคว้าที่นั่งในรัฐสภาได้ 8 ที่นั่ง จึงกลายเป็นตัวแปรสำคัญสำหรับการยกมือสนับสนุนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง.