มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 4 รายในเหตุระเบิดใกล้การชุมนุมทางการเมืองของปากีสถาน ขณะที่การเลือกตั้งครั้งสำคัญกำลังจะเกิดขึ้นในสัปดาห์หน้า
เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยและชาวปากีสถานรวมตัวกันใกล้จุดเกิดเหตุระเบิดในเมืองเควตตาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นบาลูจิสถาน เมื่อวันที่ 30 มกราคม (Photo by AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันอังคารที่ 30 มกราคม 2567 กล่าวว่า เกิดเหตุระเบิดกับรถมอเตอร์ไซค์คันหนึ่งในบริเวณพื้นที่ชุมนุมจัดกิจกรรมทางการเมืองของสมาชิกและผู้สนับสนุนพรรค Tehreek-e-Insaf (PTI) ในเมืองเควตตาซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นบาลูจิสถาน ประเทศปากีสถาน
ตำรวจระบุว่า ระเบิดดังกล่าวเกิดขึ้นจากการจุดชนวน ไม่ใช่อุบัติเหตุ โดยมีกลุ่มผู้ชุมนุมกำลังเดินขบวนไปในบริเวณดังกล่าวและระเบิดก็ทำงาน เจ้าหน้าที่ยังไม่สรุปว่าเป้าหมายของการก่อเหตุคือกลุ่มผู้ชุมนุมหรือไม่
สำนักงานสาธารณสุขเมืองเควตตา เปิดเผยว่า มีผู้เสียชีวิต 4 ราย และได้รับบาดเจ็บอีก 6 คน
ขณะที่พรรค Tehreek-e-Insaf (PTI) ของอดีตนายกรัฐมนตรีอิมรอน ข่าน ระบุถึงเหตุการณ์ดังกล่าวในถ้อยแถลงว่า นักเคลื่อนไหว 3 คนอยู่ในหมู่ผู้เสียชีวิตที่กำลังทำกิจกรรมประณามการสนับสนุนผู้สมัครก่อนการเลือกตั้งระดับชาติที่กำหนดไว้ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์
ล่าสุด คณะกรรมการการเลือกตั้งของปากีสถานได้เข้าร่วมในการสืบสวนหาสาเหตุที่แท้จริงของเหตุร้ายดังกล่าวแล้ว
เหตุระเบิดเกิดขึ้นเพียงไม่กี่ชั่วโมงหลังจากอิมรอน ข่าน ผู้ก่อตั้งพรรค PTI ถูกตัดสินจำคุก 10 ปีในข้อหาทำให้เอกสารลับของรัฐรั่วไหล
ข่านและพรรคของเขาระบุว่า พวกเขากำลังทนทุกข์ทรมานภายใต้การปราบปรามที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนซึ่งกำหนดมาเพื่อป้องกันไม่ให้พวกเขากลับคืนสู่อำนาจผ่านการเลือกตั้งในวันที่ 8 กุมภาพันธ์
อดีตซูเปอร์สตาร์คริกเก็ตวัย 71 ปีรายนี้ถูกขับออกจากตำแหน่งในปี 2565 และได้หันมาต่อต้านผู้นำทางทหารของปากีสถาน ซึ่งเขากล่าวว่าสมคบคิดกันเพื่อเขี่ยเขาพ้นจากตำแหน่งผู้นำของประเทศ
ตั้งแต่นั้นมา ข่านต้องเผชิญกับคดีทางกฎหมายมากมาย และถูกห้ามไม่ให้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ในขณะที่พรรค PTI เองก็ถูกบีบออกจากการมีบทบาทต่อสาธารณะเป็นส่วนใหญ่
ปัจจุบัน ปากีสถานยังคงต้องดิ้นรนจากวิกฤตด้านความมั่นคง โดยมีการโจมตีของกลุ่มติดอาวุธเพิ่มขึ้นอย่างมากนับตั้งแต่กลุ่มตอลิบันกลับคืนสู่อำนาจในอัฟกานิสถานซึ่งเป็นประเทศที่มีพรมแดนติดกัน
เมื่อปีที่แล้ว มียอดผู้เสียชีวิตพุ่งสูงสุดในรอบ 6 ปี โดยมีพลเรือน, กองกำลังความมั่นคง และกลุ่มติดอาวุธถูกสังหารมากกว่า 1,500 ราย ตามการระบุของศูนย์เพื่อการวิจัยและการศึกษาความมั่นคงในกรุงอิสลามาบัด.