รัฐบาลทหารเมียนมาส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเข้าร่วมการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในลาวเมื่อวันจันทร์ นับเป็นครั้งแรกที่ได้รับการอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่มในรอบกว่า 2 ปี
(จากซ้ายไปขวา) ข้าราชการอาวุโสกระทรวงต่างประเทศเมียนมา, ปลัดกระทรวงต่างประเทศฟิลิปปินส์, รัฐมนตรีต่างประเทศสิงคโปร์, รัฐมนตรีต่างประเทศไทย, รัฐมนตรีต่างประเทศเวียดนาม, รัฐมนตรีต่างประเทศลาว, รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย, รัฐมนตรีต่างประเทศบรูไน, รัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชา, รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย, รัฐมนตรีต่างประเทศติมอร์ตะวันออก และเลขาธิการอาเซียน ถ่ายภาพหมู่ร่วมกันระหว่างการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่เมืองหลวงพระบาง ประเทศลาว เมื่อวันที่ 29 มกราคม (Photo by TANG CHHIN SOTHY and TANG CHHIN SOTHY / AFP)
เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันจันทร์ที่ 29 มกราคม 2567 กล่าวว่า ประเทศลาวเป็นเจ้าภาพการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนที่หลวงพระบาง โดยเป็นครั้งแรกในรอบสองปีที่รัฐบาลทหารเมียนมาส่งเจ้าหน้าที่อาวุโสเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของกลุ่ม
นับตั้งแต่เมียนมาได้รับความเสียหายจากความรุนแรงหลังการรัฐประหารในปี 2564 ที่มีการเปิดฉากปราบปรามผู้เห็นต่างอย่างต่อเนื่อง สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ที่มีสมาชิก 10 ประเทศ ได้พยายามใช้มาตรการทางการทูตเพื่อบรรเทาวิกฤติในเมียนมา แต่รัฐบาลทหารกลับไม่ได้ให้ความร่วมมือใดๆตามฉันทามติที่ตกลงร่วมกัน
ที่ประชุมอาเซียนจึงลงมติห้ามผู้นำรัฐบาลทหารเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำและการประชุมระดับรัฐมนตรีตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 และจะยอมรับเฉพาะบุคคลตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองเท่านั้น ซึ่งรัฐบาลทหารเมียนมาได้ปฎิเสธมาตลอด
แต่เมื่อวันจันทร์ มาร์ลาร์ ตัน ฮิตเก ข้าราชการอาวุโสกระทรวงต่างประเทศเมียนมาได้เดินทางเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว
สะเหลิมไซ กมมะสิด รัฐมนตรีต่างประเทศแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) กล่าวต้อนรับการเข้าร่วมของเมียนมาหลังจากผ่านไป 2 ปี ด้วยความหวังว่าจะมีความคืบหน้าไปในทางที่ดี แม้รู้ดีว่าการเปลี่ยนแปลงจะไม่ง่ายและวิกฤตคงไม่ยุติอย่างรวดเร็วก็ตาม
"เราต้องยอมรับว่าปัญหาที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาจะไม่คลี่คลายในชั่วข้ามคืน แต่เราก็มั่นใจว่ายิ่งเรามีส่วนร่วมกับเมียนมามากเท่าไร ก็ยิ่งมีความเข้าใจสถานการณ์จริงที่กำลังเกิดมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งชาติสมาชิกจำนวนมากก็ยินดีต้อนรับการมีส่วนร่วมของตัวแทนที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองจากเมียนมาในครั้งนี้" รัฐมนตรีต่างประเทศลาวกล่าว
ความพยายามทางการทูตของอาเซียนในการแก้ไขวิกฤติเมียนมาสะดุดซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยมีความคืบหน้าเพียงเล็กน้อยนับตั้งแต่ปี 2564 เมื่อกลุ่มตกลงร่วมกันในแผนสันติภาพ 5 ประการ ซึ่งเมียนมาลงนามแต่ล้มเหลวในการดำเนินการ
ความขัดแย้งระหว่างสมาชิกอาเซียนเพิ่มขึ้นเมื่อปีที่แล้วจากแนวทางที่แตกต่างกันในการแก้ไขวิกฤต โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่รัฐบาลไทยชุดก่อนตัดสินใจเข้าพบตาน ส่วย รัฐมนตรีต่างประเทศเมียนมา
ปัจุจุบัน ลาวกำลังทำหน้าที่ประธานอาเซียนเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ปี 2559
คาดการณ์ว่าการเรียกร้องของลาวให้มีส่วนร่วมการประชุมครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากอลุนแก้ว กิตติคุณ (Alounkeo Kittikhoun) ทูตพิเศษด้านกิจการเมียนมาของอาเซียน เดินทางเยือนเมียนมา และได้เข้าพบกับมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหาร ที่กรุงเนปยีดอ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน
สื่อของเมียนมารายงานในขณะนั้นว่า บุคลลทั้งสองหารือกันถึงความพยายามของรัฐบาลในการรับรองสันติภาพและเสถียรภาพของประเทศและประชาชน
แต่อินโดนีเซีย, สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ได้แสดงท่าทีแข็งกร้าวต่อเมียนมาเช่นเดิม และยืนยันว่าการเข้าร่วมประชุมครั้งนี้ไม่ได้ส่งสัญญาณถึงการเปลี่ยนแปลงนโยบายใดๆที่มีต่อรัฐบาลทหาร
การแสดงความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อเมียนมาอย่างต่อเนื่องก็ได้รับการพูดถึงเช่นกัน โดยลาวยินดีกับความพยายามที่นำโดยไทยในการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมกับเพื่อนบ้านตามแนวชายแดน
"เช่นเดียวกับไทย ชาติสมาชิกอาเซียนทุกประเทศต่างแสดงเจตจำนงที่จะสนับสนุนความช่วยเหลือแก่ชาวเมียนมาอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพ" สะเหลิมไซ กมมะสิดกล่าว.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
'นภินทร' นำทัพไทยประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียน ถกหารือเจรจา FTA
สปป.ลาว นั่งหัวโต๊ะประชุมรัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนนัดแรก ประกาศแผนงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในปี 2567 ผ่าน 3 กลไก ซึ่งเน้นให้อาเซียนเชื่อมโยงกระบวนการผลิตโลกตั้งแต่ต้นน้ำ-ปลายน้ำ และวางรากฐานอาเซียนมุ่งสู่การพัฒนาภูมิภาคอย่างยั่งยืน และก้าวสู่ภูมิภาคดิจิทัล เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มต่อภาคธุรกิจเพื่อให้สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจไปพร้อมกัน