ศาลสหประชาชาติสั่งอิสราเอล ต้องไม่ให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา

ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศออกคำสั่งให้อิสราเอลต้องป้องกันการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ในฉนวนกาซา และยอมให้มีการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในดินแดนดังกล่าว

ชาวปาเลสไตน์เข้าร่วมชมถ่ายทอดสดการพิจารณาคดีของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) เกี่ยวกับคดีที่แอฟริกาใต้ฟ้องร้องอิสราเอล ที่เทศบาลรามัลเลาะห์ในเขตเวสต์แบงก์ เมื่อวันที่ 26 มกราคม (Photo by Zain JAAFAR / AFP)

เอเอฟพีรายงาน เมื่อวันเสาร์ที่ 27 มกราคม 2567 กล่าวว่า ศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ (ไอซีเจ) หรือศาลโลก ในกรุงเฮก ได้นั่งบัลลังก์ตัดสินคดีที่ดำเนินการฟ้องร้องโดยประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งกล่าวหาว่าอิสราเอลละเมิดอนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ

ศาลโลกไม่ได้ระบุอย่างชัดเจนว่าอิสราเอลกระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ด้วยการใช้กำลังทางทหารในฉนวนกาซาจริงหรือไม่ โดยกระบวนการดังกล่าวอาจต้องใช้เวลาหลายปีในการพิจารณา แต่ศาลฯได้ตัดสินว่า สถานการณ์ด้านมนุษยธรรมที่เป็นหายนะในฉนวนกาซา มีความเสี่ยงร้ายแรงที่จะเลวร้ายไปกว่านี้ ดังนั้นจึงออกมาตรการฉุกเฉินหลายชุดเพื่อระงับความเป็นได้ดังกล่าว

ศาลฯระบุว่า อิสราเอลต้องใช้มาตรการทั้งหมดที่อยู่ในขอบเขตอำนาจตน เพื่อป้องกันการกระทำฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ และให้ระงับการกระทำใดๆที่เป็นการส่งเสริมการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

ศาลฯยังเรียกร้องให้อิสราเอลดำเนินมาตรการที่ทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ เพื่อให้บริการขั้นพื้นฐานและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมที่จำเป็น เข้าถึงผู้คนในกาซาอย่างเร่งด่วน

นาเลดี แพนดอร์ รัฐมนตรีต่างประเทศแอฟริกาใต้ซึ่งยื่นเรื่องต่อศาล กล่าวว่า การสั่งให้อิสราเอลดำเนินมาตรการต่างๆของศาลฯนั้นเทียบเท่ากับการเรียกร้องให้มีการหยุดยิงแม้ศาลจะไม่ได้สั่งโดยตรงก็ตาม เพราะหากไม่มีการหยุดยิง ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก็จะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

ขณะที่นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกล่าวว่า ข้อกล่าวหาที่มีต่อประเทศของตนนั้น ไม่เพียงแต่เป็นเท็จ แต่ยังเป็นการระรานอธิปไตยที่ไม่มีใครเขาทำกัน

อิสราเอลเน้นย้ำในระหว่างการพิจารณาคดีว่า ทั้งหมดคือการดำเนินการในการป้องกันตนเองหลังถูกโจมตีโดยกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม และกำลังทำทุกอย่างตามขอบเขตอำนาจของตนเพื่อบรรเทาชะตากรรมของพลเรือน

แต่ศาลฯทักท้วงว่า แม้จะมีความช่วยเหลือต่อพลเรือนในฉนวนกาซาไปบ้างแล้ว แต่ยังคงไม่เพียงพอที่จะปกป้องสิทธิของชาวปาเลสไตน์ จึงจำเป็นต้องได้รับการส่งเสริมมากกว่านี้

ศาลฯยังกล่าวอีกว่า อิสราเอลควรเก็บหลักฐานที่เป็นไปได้ใดๆ ที่สามารถนำไปใช้ในคดีที่อาจถูกฟ้องร้องในภายหลัง ที่เกี่ยวกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์

นอกจากนี้ อิสราเอลยังต้องรายงานกลับมาภายในหนึ่งเดือนเกี่ยวกับมาตรการที่จะดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลยุติธรรมระหว่างประเทศ

ในช่วงสองวันของการพิจารณาคดีเมื่อตอนต้นเดือน ทนายความจากทั้งสองฝ่ายต่างโต้แย้งเรื่องการตีความอนุสัญญานี้ (อนุสัญญาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ของสหประชาชาติ)

แอฟริกาใต้กล่าวหาอิสราเอลว่ากระทำการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อทำลายล้างชาติ, เชื้อชาติ และกลุ่มชาติพันธุ์ชาวปาเลสไตน์

แต่อิสราเอลมองว่าคดีนี้ถือเป็นเรื่องราวที่บิดเบือนอย่างร้ายแรง และกล่าวว่า หากมีการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์เกิดขึ้นจริง น่าจะหมายถึงการโจมตีของกลุ่มฮามาสในอิสราเอลเมื่อวันที่ 7 ตุลาคมมากกว่า

หลายฝ่ายตั้งคำถามว่า หลังมีคำพิพากษาเช่นนี้ อิสราเอลจะยอมปฏิบัติตามหรือไม่

แม้ว่าคำพิพากษาตัดสินจะมีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่ก็ไม่มีกลไกที่จะบังคับใช้ และบางครั้งก็ถูกเพิกเฉยโดยสิ้นเชิง เช่นกรณีที่สั่งให้รัสเซียหยุดการรุกรานยูเครน เป็นต้น

อย่างไรก็ตามเนทันยาฮูบอกเป็นนัยแล้วว่า ไม่มีใครหยุดพวกเขาได้ และอิสราเอลจะไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินใดๆ แม้แต่ศาลโลก

แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า นอกเหนือจากผลกระทบเชิงสัญลักษณ์ที่สำคัญของคำพิพากษาแล้ว ยังอาจมีผลกระทบที่เป็นรูปธรรมในพื้นที่อีกด้วย

"มันจะเป็นการยากขึ้นอีกสำหรับรัฐอื่นๆ ที่จะสนับสนุนอิสราเอลต่อไป เพราะอาจมีความเสี่ยงต่อการร่วมฆ่าล้างเผ่าพันธุ์" จูเลียต แมคอินไทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายระหว่างประเทศจากมหาวิทยาลัยเซาท์ออสเตรเลียกล่าว และเสริมว่า รัฐเหล่านั้นอาจถอนการสนับสนุนทางทหารหรือการสนับสนุนอื่นๆ สำหรับอิสราเอลเพื่อหลีกเลี่ยงสิ่งดังกล่าว

ทั้งนี้ การโจมตีของกลุ่มฮามาสเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตประมาณ 1,140 รายในอิสราเอล ขณะที่ชาวปาเลสไตน์อย่างน้อย 26,083 รายซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิงและเด็ก ถูกสังหารในฉนวนกาซาจากการทิ้งระเบิดและการรุกภาคพื้นดินของอิสราเอลนับแต่นั้นมา.

เพิ่มเพื่อน