คาดมะกันกว่า 100 ล้านออกเดินทาง โอมิครอนทำไฟลต์ยกเลิกระนาว

ประเมินว่ามีชาวอเมริกันมากกว่า 100 ล้านคนกำลังเดินทางในช่วงเทศกาลคริสต์มาสถึงปีใหม่ ถึงแม้ว่าสหรัฐกำลังเผชิญการระบาดของโอมิครอน ที่ทำให้หลายสายการบินต้องยกเลิกเที่ยวบินรวมหลายร้อยเที่ยว

ผู้โดยสารรอตรวจความปลอดภัย ที่สนามบินระหว่างประเทศออร์แลนโด เมื่อวันที่ 23 ธ.ค. 2564 (Getty Images)

รายงานเอเอฟพีเมื่อวันศุกร์ที่ 24 ธันวาคม 2564 กล่าวว่า นักเดินทางจำนวนหลายพันคนกำลังได้รับผลกระทบจากการประกาศยกเลิกเที่ยวบินอย่างกะทันหันของสายการบินยูไนเต็ดแอร์ไลน์, เดลตาแอร์ไลน์ และอะแลสกาแอร์ไลน์ในวันเดียวกันนี้ สืบเนื่องจากการระบาดของโควิด-19

ยูไนเต็ดแอร์ไลน์อ้างว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโอมิครอนที่เพิ่มสูงขึ้นทั่วประเทศทำให้ต้องประกาศยกเลิกเที่ยวบินราว 120 เที่ยวในวันศุกร์ ส่วนเดลตาแจ้งลูกค้าว่าได้ยกเลิก 90 เที่ยวบิน อะแลสกาแอร์ไลน์ยกเลิกแล้ว 17 เที่ยวบินเพราะพนักงานบางคนอาจติดเชื้อไวรัส และมีความเป็นไปได้ที่จะมีเที่ยวบินยกเลิกเพิ่มเติมด้วย

รอยเตอร์อ้างข้อมูลจากเว็บไซต์ FlightAware ว่ายูไนเต็ดยกเลิกเที่ยวบินรวมแล้ว 169 เที่ยวในวันคริสต์มาสอีฟ และเดลตายกเลิก 127 เที่ยวบิน บวกกับอีก 50 เที่ยวบินที่ยูไนเต็ดยกเลิกในวันคริสต์มาส และ 89 เที่ยวบินของเดลตาในวันคริสต์มาส

บริษัทบริการข้อมูลติดตามเที่ยวบินแห่งนี้กล่าวด้วยว่า จำนวนเที่ยวบินที่ยกเลิกทั่วโลกในวันคริสต์มาสอีฟมีทั้งสิ้น 2,029 เที่ยวบิน ในจำนวนนี้ 448 เที่ยวบินอยู่ในสหรัฐ

ด้านสมาคมยานยนต์อเมริกาประเมินว่า จะมีผู้คน 109 ล้านคนในสหรัฐ ออกเดินทางบนท้องถนน, ขึ้นเครื่องบินโดยสาร และใช้ระบบคมนาคมอื่นๆ ในการเดินทางระยะ 80 กิโลเมตร หรือไกลกว่านั้น ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม ถึง 2 มกราคม ซึ่งเพิ่มขึ้น 30% จากปี 2563

สายการบินอเมริกันแอร์ไลน์กล่าวว่า กำลังให้บริการเที่ยวบินวันละ 5,000 เที่ยวระหว่างวันที่ 19 ธันวาคม ถึง 1 มกราคม เทียบเท่ากับ 86% ของตารางบินช่วงก่อนโควิดระบาดในปี 2562

คาดกันว่าช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองจะทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อโควิดในสหรัฐพุ่งสูงขึ้นอีก ในช่วงยามที่โอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักโดยมีผู้ติดเชื้อมากกว่า 90% ในบางภูมิภาคแล้ว และโรงพยาบาลหลายแห่งกำลังอยู่ในภาวะตึงมือ

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Covid Act Now เผยว่า จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันในสหรัฐเฉลี่ยรอบ 7 วันเตรียมแซงหน้าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เคยพุ่งสูงสุดในเมื่อเดือนกันยายนช่วงที่เดลตาระบาดหนัก

ขณะที่แผนกฉุกเฉินของโรงพยาบาลในหลายพื้นที่ของสหรัฐมีอัตราการครองเตียงมากกว่า 90% แล้ว

ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐประกาศแนวทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาบุคลากรทางการแพทย์ขาดแคลน โดยอนุญาตให้ผู้ปฏิบัติงานที่ติดเชื้อแต่ไม่แสดงอาการป่วย กลับเข้าทำงานได้หลังจากแยกกักตัวนาน 7 วัน ลดลงจากที่เคยให้กักตัวนาน 10 วัน นอกจากนี้คนทำงานยังไม่จำเป็นต้องกักตัวหากเสี่ยงสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ ถ้าพวกเขาฉีดวัคซีนแล้ว

เมื่อวันพฤหัสบดี องค์การอาหารและยาของสหรัฐ (เอฟดีเอ) เพิ่งอนุมัติแคปซูลรักษาโควิดที่พัฒนาโดยบริษัท เมอร์ค สำหรับการใช้แบบฉุกเฉินในการรักษาผู้ป่วยโควิดวัยผู้ใหญ่ที่มีความเสี่ยงสูง เพิ่มเป็นชนิดที่ 2 ต่อจากยาเม็ดของไฟเซอร์ที่ได้รับการอนุมัติหนึ่งวันก่อนหน้านั้น.

เพิ่มเพื่อน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ศูนย์จีโนมฯ จับตาโอมิครอน KP.2.3/XEC ลูกผสมพันธุ์ใหม่ แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า โอมิครอน KP.2.3/XEC : ลูกผสมสายพันธุ์ใหม่แพร่เร็วกว่าเดิม 2 เท่า

‘หมอธีระ’ ข้องใจตัวเลขโควิด สัปดาห์ก่อนพุ่งอาทิตย์นี้ลดฮวบ ไม่ใช่เรื่องปกติ

สัปดาห์ก่อน ตัวเลขนอนรพ.พุ่งขึ้นกว่าสัปดาห์ก่อนหน้านั้นถึง 78% แต่สัปดาห์ล่าสุดนี้ ลดลงฮวบฮาบจากสัปดาห์ก่อนถึง 57.7% ส่วนตัวคิดว่าเป็นปรากฏการณ์ที่ควรต้อง explore